การกำหนดระบบการควบคุมภายในเกี่ยวกับการรับฝาก เงินประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday December 20, 2001 08:44 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                             20 ธันวาคม 2544
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุน และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
ที่ สนส.(31)ว 9/2544 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเปิดบัญชีรับฝากเงินประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดระบบการควบคุมภายในเกี่ยวกับการรับฝากเงินประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน
ด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเปิดบัญชีรับฝากเงินประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2544 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดระบบการควบคุมภายในเกี่ยวกับการรับฝากเงินประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2544 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 118 ตอนพิเศษ 126ง วันที่ 19 ธันวาคม 2544
สาระสำคัญของประกาศดังกล่าวมีดังนี้
1. อนุญาตให้บริษัทเงินทุนรับฝากเงินประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝากได้
2. ให้บริษัทเงินทุนถือปฏิบัติเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินฝากประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝาก ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางสาวปรางทิพย์ บุศยศิริ)
ผู้อำนวยการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
สนสว32-กส1003-25441220ด
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเปิดบัญชีรับฝากเงินประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน
2. ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดระบบการควบคุมภายในเกี่ยวกับการรับฝากเงินประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน
3. ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด (ฉบับที่ 5)
ฝ่ายเงินกองทุนและบริการข้อมูล
โทร. 0-2283-5806 และ 0-2283-5867
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่............ณ..................
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว32-กส1003-25441220ด
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเปิดบัญชี
รับฝากเงินประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน
_____________________________________________
อาศัยอำนาจตามมาตรา 27 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเปิดบัญชีรับฝากเงินประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้บริษัทเงินทุนรับฝากเงินประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝากได้ โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อ 2 และข้อ 3
ข้อ 2 ในการรับฝากเงินประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝากให้ถือปฏิบัติดังนี้
2.1 การรับฝากเงินข้างต้นบริษัทเงินทุนต้องออกสมุดคู่ฝากเป็นหลักฐานการรับฝากเงิน และไม่ใช้เช็คในการถอน
2.2 เมื่อบริษัทเงินทุนได้รับฝากเงินและออกสมุดคู่ฝากแก่ผู้ฝากแล้ว บริษัทเงินทุนจะให้ผู้ฝากเงินถอนเงินหรือฝากเงินที่สำนักงานซึ่งออกสมุดคู่ฝากนั้น หรือสำนักงานอื่นของบริษัทเงินทุนนั้นก็ได้
2.3 ห้ามมิให้บริษัทเงินทุนรับเงินหรือให้ถอนเงินฝากนอกสำนักงานและนอกเวลาทำการ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
2.4 ให้บริษัทเงินทุนแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนประกอบธุรกิจรับฝากเงินโดยใช้สมุดคู่ฝาก
ข้อ 3 ให้บริษัทเงินทุนถือปฏิบัติเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินฝากประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝาก ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2544
(ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สนส.ป32-กส31001-25441ด
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดระบบการควบคุมภายในเกี่ยวกับการรับฝากเงิน
ประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝากของบริษัทเงินทุน
___________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 ตรี แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบควบคุมภายในสำหรับการรับฝากเงินประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยใช้สมุดคู่ฝาก เพื่อให้บริษัทเงินทุนถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระบบการควบคุมภายในเกี่ยวกับการรับฝากเงินประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาโดยออกสมุดคู่ฝาก
1.1 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดให้มีระเบียบและวิธีการจัดเก็บรักษา และการเบิกใช้เอกสารสำคัญรวมทั้งแบบพิมพ์ต่างๆ ที่ยังไม่ได้ใช้ เช่น สมุดคู่ฝาก คำขอเปิดบัญชี แผ่นถ่ายทอดลายมือชื่อ (Transparent Paper) เป็นต้น พร้อมกับจัดทำทะเบียนควบคุมให้เป็นปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับวันที่และจำนวนที่ได้รับจากโรงพิมพ์ วันที่และจำนวนที่เบิกใช้และยอดคงเหลือ
1.2 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการเบิกเอกสารสำคัญและแบบพิมพ์ (ตามข้อ 1.1) ในการเบิกจ่ายทุกครั้งต้องให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบลงนามไว้เป็นหลักฐานร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการเก็บรักษา
1.3 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดให้มีการตรวจนับยอดคงเหลือของเอกสารสำคัญและแบบพิมพ์ที่ยังไม่ได้ใช้เปรียบเทียบกับทะเบียนควบคุม (ตามข้อ 1.1) อย่างน้อยเดือนละครั้ง
1.4 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดพนักงานซึ่งมีสิทธิทำรายการหรืออนุมัติรายการระเภทต่างๆ เช่น การเปิดบัญชี การปิดบัญชี การฝากถอนบัญชีที่ขาดการติดต่อ การฝากถอนต่างสาขาในกรณีที่บัญชีมีเงื่อนไขต้องผ่านการอนุมัติจากผู้มีอำนาจสาขาที่ให้เปิดบัญชี เป็นต้นรวมทั้งกำหนดวงเงินที่เจ้าหน้าที่แต่ละระดับมีสิทธิทำรายการฝากถอนเงิน
1.5 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดวงเงินสดสูงสุดในมือที่พนักงานรับเงิน (Teller)สามารถถือได้และกำหนดมาตรการควบคุมการเบิกและส่งมอบเงินสดกับผู้รักษาเงิน (Cashier)
1.6 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดให้มีการตรวจสอบและแยกบัญชีที่ขาดการติดต่อไว้ต่างหาก และมีการควบคุมการทำรายการของบัญชีที่ขาดการติดต่ออย่างรัดกุม
1.7 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดให้มีการตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของรายการทั้งก่อนและหลังแก้ไขหรือปรับปรุง การอนุมัติรายการโดยผู้มีอำนาจและการจัดเก็บเอกสารขั้นต้นไว้เป็นหลักฐานอ้างอิงในภายหลัง
1.8 บริษัทเงินทุนต้องกำหนดให้มีรายงานพิเศษสำหรับใช้ควบคุมและตรวจสอบโดยผู้บริหาร เช่น การทำรายการที่มีจำนวนเงินสูง การทำรายการสำคัญที่ต้องผ่านการอนุมัติรายการการแก้ไขรายการที่ไม่เป็นตัวเงิน เป็นต้น
1.9 ในการเปิดบัญชีเงินฝาก ให้บริษัทเงินทุนถือปฏิบัติดังนี้
(1) ตรวจสอบเอกสารทางราชการที่แสดงชื่อและที่อยู่ของผู้ฝาก รวมทั้งจัดให้มีสำเนาเอกสารหลักฐานดังกล่าวและบัตรตัวอย่างลายมือชื่อเก็บรักษาไว้ที่บริษัทอย่างปลอดภัย
(2) ควบคุมการเบิกจ่ายสมุดคู่ฝากให้เป็นไปตามลำดับของหมายเลขสมุด คู่ฝาก ที่โรงพิมพ์ได้จัดพิมพ์ไว้ล่วงหน้า และหากมีการยกเลิกสมุดคู่ฝากเล่มใด ต้องประทับตรา "ยกเลิก" ในสมุดคู่ฝากทุกหน้า และให้จัดเก็บไว้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและตรวจสอบต่อไป
(3) ตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของคำขอเปิดบัญชี การทำรายการเปิด บัญชีที่รัดกุม เช่น รายการเปิดบัญชีห้ามทำต่างสาขา ห้ามเปิดบัญชีเลขที่ซ้ำทั้งเลขที่บัญชีที่ปิด ไปแล้ว และที่ยังไม่ปิด เป็นต้น
(4) ตรวจสอบว่ามีผู้มีอำนาจลงนามอนุมัติการเปิดบัญชี
1.10 ในการรับฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน และปิดบัญชีเงินฝาก ให้บริษัทเงินทุน ถือปฏิบัติดังนี้
(1) ตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของข้อมูลเอกสาร การทำรายการฝาก ถอน โอนเงิน และปิดบัญชี ตลอดจนการอนุมัติรายการโดยมีผู้มีอำนาจ
(2) ตรวจสอบเอกสารหลักฐานทางราชการที่แสดงชื่อ หรือที่อยู่ของผู้ถอน เงินฝากและผู้ที่ขอปิดบัญชี
(3) ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของลายมือชื่อผู้ที่เปิดบัญชี ในการถอน เงินฝากและปิดบัญชี
(4) ตรวจนับเงินสดคงเหลือในมือของพนักงานรับเงิน (Teller) และกระทบ ยอดกับยอดรวม Teller Total อย่างน้อยทุกสิ้นวันทำการ
(5) พิสูจน์ยอดรวมจำนวนรายการฝากและจำนวนเงินที่ฝากทั้งหมดกับ ใบสรุปยอดนำฝากทั้งหมดทุกสิ้นวัน
1.11 การจ่ายคืนเงินฝากประเภทที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลา ให้บริษัทเงินทุน จ่ายเป็นเช็คขีดคร่อมเข้าบัญชีผู้รับเงิน (Account Payee Only) หรือขีดคร่อม "& Co" หรือโอนเงินเข้าบัญชีผู้ฝากเงิน โดยผ่านบริการบาทเนตของธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2544
(ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สนสป32-กส31002-25441218ด
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องเดอกเบี้ยและส่วนสด
(ฉบับที่ 5)
_______________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 2 แห่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 18 กันยายน 2540 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"ข้อ 2 ให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินฝาก ดังต่อไปนี้
(1) เงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม รวมตลาดถึงเงินฝากที่จ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน ไม่จ่ายดอกเบี้ย
(2) เงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออกทรัพย์ที่ไม่ใช้เช็คในการถอนให้จ่ายดอกเบี้ยได้ตามอัตราที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนด แต่ทั้งนี้อัตราดังกล่าวต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ธนาคารใหญ่จ่ายสำหรับเงินฝากประเภทเดียวกัน ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ บวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี
(3) เงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายดอกเบี้ยได้ตามอัตราที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนด แต่ทั้งนี้อัตราดังกล่าวต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ธนาคารใหญ่จ่ายสำหรับเงินฝากระยะเวลาเดียวกัน ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ บวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี
(4) เงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาประเภทเงินฝากแบบผูกพัน(Contractual Savings) ที่มีระยะเวลาการฝากต่อเนื่องเป็นรายเดือนไม่ต่ำกว่า 24 เดือน จ่ายดอกเบี้ยได้ตามอัตราที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนด
ให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดจะจ่ายสำหรับเงินฝากแต่ละประเภท ทั้งที่จ่ายให้แก่ลูกค้าทั่วไปและลูกค้ารายใหญ่รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่จะจ่ายสำหรับเงินฝากตามข้อ 2(3) ซึ่งธนาคารพาณิชย์ยินยอมให้ถอนก่อนครบกำหนด้วย ทั้งนี้ ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวต้องบังคับใช้กับสำนักงานใหญ่และสาขาทุกแห่ง
ธนาคารใหญ่ตามข้อนี้ หมายถึงธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)"
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2541
(ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ