การชะลอการชำระหนี้แก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 2)

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 5, 2020 15:28 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การชะลอการชำระหนี้แก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 2)

เลขที่ ธปท.ฝต1.(52) ว. 582/2563

วันที่ออกหนังสือเวียน 5 มิถุนายน 2563

วันที่มีผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2563

วันที่สิ้นสุดผลบังคับใช้ -

สถาบันผู้เกี่ยวข้อง

1.ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ

2.ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ

3.สถาบันการเงินเฉพาะกิจ

วัตถุประสงค์/หลักการ/เหตุผล

-

สาระสำคัญ

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการชะลอการชำระหนี้ ระยะเวลาการชะลอการชำระหนี้ และวิธีการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ชะลอไว้ เพื่อให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 แล้ว นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการชะลอการชำระหนี้เพิ่มเติม ดังนี้

1. สถาบันการเงินมีสิทธิในการนำเงินที่ผู้ซื้อสินค้าหรือลูกหนี้ทางการค้าชำระค่าสินค้าผ่านสถาบันการเงินไปหักชำระหนี้ที่มีอยู่ที่สถาบันการเงินตามข้อสัญญาของสินเชื่อหมุนเวียน อันได้แก่ สินเชื่อเพื่อการส่งออก (Packing Credit) สินเชื่อแก่ผู้จัดจำหน่ายรถ (Floor Plan) สินเชื่อจากธุรกรรมแฟ็กตอริ่ง หรือสินเชื่อที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีเงื่อนไขในสัญญาให้สิทธิแก่สถาบันการเงินในลักษณะเดียวกับสินเชื่อดังกล่าว แต่หากเป็นกรณีที่ไม่ได้รับชำระค่าสินค้า ลูกหนี้ทางการค้าก็ยังคงได้รับการชะลอการชำระหนี้เช่นเดิม

2. กำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมของผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับการชะลอการชำระหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สกส1. 2/2563 เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับการชะลอการชำระหนี้ ต้องไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ