ธปท. ทำอะไรให้ผู้บริโภคมั่นใจใน e-Payment

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 20, 2010 17:11 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสิริเนตร แสนสุดสวาสดิ์

ผู้วิเคราะห์อาวุโส

ฝ่ายระบบการชำระเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พัฒนาการของเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้การใช้ชีวิต ประจำวันของเรามีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ มีบทบาทอย่างมากในการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ จากการโอนเงิน หรือชำระเงินค่าสินค้าและค่าบริการต่างๆ ที่ผู้บริโภคต้องใช้เวลาในการติดต่อดำเนินการเป็นวันจึงจะสำเร็จ ปัจจุบันนี้เราสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเดินทาง ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ

รูปแบบการให้บริการที่หลากหลายเข้าถึงได้ง่ายใช้งานสะดวก ตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ และสามารถรองรับการชำระเงินทั้งที่มีมูลค่าต่ำและมูลค่าสูง ทำให้การชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ให้บริการก็มีจำนวนมากขึ้นเช่นกันทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและที่มิใช่สถาบันการเงิน ตั้งแต่ระดับบุคคลธรรมดาจนถึงบริษัทมหาชน ในขณะที่รูปแบบบริการบางประเภทก็มีความซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่จับต้องเป็นรูปธรรมไม่ได้ ผู้บริโภคจึงอาจไม่แน่ใจว่าควรจะเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการรายใด มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ดังนั้น หากไม่มีหน่วยงานใดควบคุมดูแลผู้ให้บริการเหล่านั้นแล้ว อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 (พ.ร.ฎ.ฯ) จึงได้มีการตราขึ้น และมีผลบังคับใช้เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมดูแลธุรกิจ 8 ประเภท คือ บริการเครือข่ายบัตรเครดิต บริการเครือข่ายอีดีซี บริการสวิตช์ชิ่งเพื่อรับส่งข้อมูลในการชำระเงิน บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) บริการหักบัญชี บริการชำระดุลบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดหรือผ่านทางเครือข่าย และบริการรับชำระเงินแทน (Bill payment) รูปแบบการควบคุมดูแลถูกจัดแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ตามผลกระทบด้านความมั่นคงทางการเงินการพาณิชย์ ความเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และความเสียหายต่อสาธารณชน กล่าวคือ เป็นธุรกิจที่ต้องแจ้งให้ทราบ ขึ้นทะเบียน หรือขออนุญาต โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลธุรกิจบริการดังกล่าว

งานที่ ธปท. ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันครอบคลุมตั้งแต่การพิจารณาคุณสมบัติผู้ให้บริการ พิจารณาความพร้อมด้านต่างๆ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการเข้าถึงระบบบริการ การรักษาความลับความถูกต้องของข้อมูล การรักษาความพร้อมใช้ของระบบให้บริการเพื่อสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนติดตามผู้ให้บริการให้มีการตรวจสอบระบบสารสนเทศเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ผู้ให้บริการจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และประกาศต่างๆ หลักเกณฑ์เหล่านี้จะทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ให้บริการที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลดังกล่าวได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีกฎหมายควบคุมดูแลผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ความ ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็มาพร้อมกับความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการล่อลวงในการโอนเงินรูปแบบต่างๆ การอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อหาช่องทางหรือรูปแบบการให้บริการที่อยู่นอกกรอบการควบคุมดูแล ดังนั้น ผู้บริโภคเองยังต้องระมัดระวังในการพิจารณาเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกฎหมายเพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรมด้วย ทั้งนี้ ธปท. ได้เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องรวมถึงรายชื่อผู้ให้บริการผ่านเวปไซต์ของ ธปท. เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบอีกช่องทางหนึ่งด้วยเช่นกัน (www.bot.or.th หัวข้อ "ระบบการชำระเงิน" )

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 20 เมษายน 2553

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ