รายงานดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนเดือนมีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 15, 2015 14:33 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ ปีฐาน 2555 = 100 ในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนมีนาคม 2558 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 (M/M)

ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.1 ขณะที่ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.6

ดัชนีราคาส่งออกเดือนมีนาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.1 สาเหตุหลักเป็นผลมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจากความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่สงบของกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ประกอบกับมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นทำให้ปริมาณการผลิตลดลง ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีบางหมวดสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง ตามวัตถุดิบเกี่ยวเนื่องที่ราคาปรับสูงขึ้นจากปริมาณสินค้าที่มีค่อนข้างจำกัด

สำหรับหมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรมและหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร โดยสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ ข้าว เป็นผลจากปริมาณสต็อกข้าวของประเทศคู่ค้ายังมีเหลืออยู่ปริมาณมากจึงมีการชะลอการสั่งซื้อ ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กาแฟ กุ้ง น้ำตาลทราย ราคาลดลงจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ราคายางพาราสูงขึ้นจากการที่หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามารับซื้อยางพารา ตามโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และประกอบกับปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง

ดัชนีราคานำเข้าเดือนมีนาคม 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเป็นการลดลงของทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ การเคลื่อนไหวของราคาในตลาดโลก เช่น ทองคำ เหล็ก น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น จากภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดและเศรษฐกิจของประเทศหลักอย่างสหรัฐอเมริกาที่ฟื้นตัวดีขึ้น

1. ดัชนีราคาส่งออก

1.1 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนมีนาคม 2558

ปี 2555 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100 เดือนมีนาคม 2558 เท่ากับ 97.0 และเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เท่ากับ 96.9

1.2 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนมีนาคม 2558 เมื่อเทียบกับ

          เดือนกุมภาพันธ์  2558           สูงขึ้นร้อยละ  0.1
          เดือนมีนาคม  2557           ลดลงร้อยละ  1.9

เฉลี่ยเดือนมกราคม-มีนาคม 2558 กับระยะเดียวกันของปี 2557 ลดลงร้อยละ 1.7

1.3 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2558 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 สูงขึ้นร้อยละ 0.1 (เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ลดลงร้อยละ 0.1) เป็นผลมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 2.3 ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ 0.5 และ 0.3 ตามลำดับ สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับสูงขึ้น

หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 2.3 (เดือนกุมภาพันธ์ 2558 สูงขึ้นร้อยละ 1.1) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น มีดังนี้

รายการสินค้า               ร้อยละ (มี.ค.58/ก.พ.58)
น้ำมันสำเร็จรูป                       2.4
ก๊าซปิโตรเลียมเหลว                   4.2

น้ำมันสำเร็จรูปสูงขึ้นร้อยละ 2.4 (น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล) และก๊าซปิโตรเลียมเหลวสูงขึ้นร้อยละ 4.2

หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับลดลง

หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.5 (เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ลดลงร้อยละ 0.2) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                        ร้อยละ (มี.ค.58/ก.พ.58)
ข้าว                                        -2
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง                           -0.3
ผักสดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง                     -0.5
กุ้ง                                        -2.5
ปลาหมึก                                    -0.7

สินค้ากสิกรรมลดลงร้อยละ 0.5 จากการลดลงของข้าวร้อยละ 2.0 ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังร้อยละ 0.3 ผักสดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งร้อยละ 0.5 และสินค้าประมงลดลงร้อยละ 1.0 จากราคากุ้งลดลงร้อยละ 2.5 และปลาหมึกลดลงร้อยละ 0.7

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.3 (เดือนกุมภาพันธ์ 2558 สูงขึ้นร้อยละ 0.2) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                               ร้อยละ (มี.ค.58/ก.พ.58)
น้ำตาลทราย                                        -1.6
อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป                         -0.5
ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป                       -1
ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์                           -0.3

น้ำตาลทรายลดลงร้อยละ 1.6 เป็นผลมาจากจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่เร่งขายน้ำตาลเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบราซิลอ่อนค่าทำให้สามารถระบายน้ำตาลออกสู่ตลาดได้มากและกดดันราคาให้อยู่ในระดับต่ำ สินค้าอื่นๆ ที่ราคาลดลง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปลดลงร้อยละ 0.5 ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 1.0 ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ลดลงร้อยละ 0.3

หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง (เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ลดลง ร้อยละ 0.1) แต่มีสินค้าบางหมวดที่ราคาเปลี่ยนแปลง ดังนี้

รายการสินค้า                        ร้อยละ (มี.ค.58/ก.พ.58)
เคมีภัณฑ์                                     1.7
เม็ดพลาสติก                                  0.5
ผลิตภัณฑ์พลาสติก                               0.2
สิ่งทอ                                       0.2
ผลิตภัณฑ์ยาง                                  0.1
ทองคำ                                     -2.2
เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์                     -0.8
เครื่องอิเล็กทรอนิกส์                           -0.1
เครื่องใช้ไฟฟ้า                               -0.1
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ                    -0.2

สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (เคมีภัณฑ์อินทรีย์) เม็ดพลาสติกสูงขึ้นร้อยละ 0.5 (เอทิลีน โพรพิลีน สไตรีน) ผลิตภัณฑ์พลาสติกสูงขึ้นร้อยละ 0.2 (ถุงและกระสอบพลาสติก หลอดและท่อพลาสติก) สิ่งทอสูงขึ้นร้อยละ 0.2 (เครื่องนุ่งห่ม ผ้าผืนและด้าย เส้นใยประดิษฐ์) ผลิตภัณฑ์ยางสูงขึ้นร้อยละ 0.1 ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ทองคำลดลงร้อยละ 2.2 เป็นผลจากข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการถือทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง เช่นเดียวกับราคาเหล็กและเหล็กกล้าลดลงร้อยละ 0.8 เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 0.1 (แผงวงจรไฟฟ้า มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) เครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 0.1 (เครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 0.2 ตามความต้องการของตลาดโลกที่ยังชะลอตัว

1.4 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2558 เทียบกับเดือนมีนาคม 2557

ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.9 จากการลดลงของดัชนีราคาส่งออกทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.0 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 9.7 หมวดสินค้าเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 4.6 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ 0.8

1.5 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมกราคม-มีนาคม 2558 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2557 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.7 จากการลดลงของดัชนีราคาส่งออกทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 10.8 หมวดสินค้าเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 5.5 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.7 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ 0.1

2. ดัชนีราคานำเข้า

2.1 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนมีนาคม 2558

ปี 2555 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เท่ากับ 100 เดือนมีนาคม 2558 เท่ากับ 86.7 และเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เท่ากับ 87.2

2.2 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนมีนาคม 2558 เมื่อเทียบกับ

          เดือนกุมภาพันธ์  2558          ลดลงร้อยละ   0.6
          เดือนมีนาคม  2557           ลดลงร้อยละ          11.2

เฉลี่ยมกราคม-มีนาคม 2558 กับระยะเดียวกันของปี 2557 ลดลงร้อยละ 10.9

2.3 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมีนาคม 2558 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ลดลงร้อยละ 0.6 (เดือนกุมภาพันธ์ 2558 สูงขึ้นร้อยละ 0.2) เป็นการปรับลดลงทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 1.0 หมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 0.5 หมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 0.2 หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งลดลงร้อยละ 0.7 และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 0.3

หมวดสินค้าที่ราคานำเข้าปรับลดลง

หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 1.0 (เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ลดลงร้อยละ 0.8) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                                                ร้อยละ (มี.ค.58/ก.พ.58)
ทองคำ                                                            -3
เม็ดพลาสติก                                                        -2
เคมีภัณฑ์อนินทรีย์                                                   -3.8
เคมีภัณฑ์อินทรีย์                                                    -1.9
เหล็กแผ่นรีดทำด้วยเหล็กกล้าเจืออื่นๆ                                    -1.5
เหล็กกล้าไม่เป็นสนิม                                                  -1
ปุ๋ย                                                            -2.3

เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำลดลงร้อยละ 2.4 (ทองคำ) โดยราคาทองคำได้รับปัจจัยลบจากค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สะท้อนออกมาว่ามีการฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะตลาดแรงงาน จึงทำให้การถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยไม่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน เคมีภัณฑ์ลดลงร้อยละ 2.0 (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์) เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบในตลาดโลกซึ่งราคาปรับตัวลดลง ส่งผลให้ราคานำเข้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงตาม เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ลดลงร้อยละ 0.7 (เหล็กแผ่นรีดทำด้วยเหล็กกล้าเจืออื่นๆ เหล็กกล้าไม่เป็นสนิม) เนื่องจากยังคงมีภาวะอุปทานส่วนเกินอยู่ในตลาดโลก ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ลดลงร้อยละ 2.3 (ปุ๋ย)

หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.5 (เดือนกุมภาพันธ์ 2558 สูงขึ้นร้อยละ 3.0) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                ร้อยละ (มี.ค.58/ก.พ.58)
น้ำมันดิบ                            -0.6
ก๊าซธรรมชาติ                       -2.9
ก๊าซปิโตรเลียมอื่นๆ                   -4.3

น้ำมันดิบลดลงร้อยละ 0.6 ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียมลดลงร้อยละ 3.4 (ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมอื่นๆ) โดยราคานำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกินของราคาน้ำมันดิบโลกที่ล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัญหาความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง เช่น อิรัก ซีเรียและลิเบีย ยังคงช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบไม่ปรับลดลงมากนัก

หมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.2 (เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ลดลงร้อยละ 0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                                            ร้อยละ (มี.ค.58/ก.พ.58)
เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ                             -0.4
อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อหรือป้องกันวงจรไฟ                              -0.6
เครื่องพักกระแสไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ                      -0.8

เครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 0.3 (เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 0.4 (อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อหรือป้องกันวงจรไฟ เครื่องพักกระแสไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ)

หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.7 (เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ลดลงร้อยละ 0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                                        ร้อยละ (มี.ค.58/ก.พ.58)
ส่วนประกอบและอุปกรณ์ รวมทั้งโครงรถและตัวถัง                      -0.7
ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ                                      -0.7

ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ลดลงร้อยละ 0.7 (ส่วนประกอบและอุปกรณ์ รวมทั้งโครงรถและตัวถัง ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ)

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.3 (เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ลดลงร้อยละ 0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                                                  ร้อยละ (มี.ค.58/ก.พ.58)
ยารักษาโรค                                                           -1.3
ผักและของปรุงแต่งที่ทำจากผัก                                              -0.9
นมและครีมผงเม็ด (หวาน) ไขมันเกินร้อยละ 1.5 โดยน้ำหนัก                      -1.3

ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมลดลงร้อยละ 1.0 (ยารักษาโรค) ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ลดลงร้อยละ 0.3 (ผักและของปรุงแต่งที่ทำจากผัก) นมและผลิตภัณฑ์นมลดลงร้อยละ 0.6 (นมและครีมผงเม็ด)

2.4 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมีนาคม 2558 เทียบกับเดือนมีนาคม 2557

ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 11.2 จากการลดลงของทุกหมวดสินค้า ได้แก่ ดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 39.3 หมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 2.4 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 4.5 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 1.2 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 5.8

2.5 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมกราคม-มีนาคม 2558 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2557 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 10.9 จากการลดลงของทุกหมวดสินค้า ได้แก่ ดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 40.2 หมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 2.0 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ -3.5 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 0.8 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 5.0

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0 2507 5802 โทรสาร. 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ