รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 2, 2015 11:39 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2558 ประชาชนยังคงชะลอการซื้อสินค้าและใช้จ่าย เนื่องจากไม่มั่นใจในทิศทางเศรษฐกิจ

          ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2558 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,282  คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า  38.9 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน  2558  ที่มีค่า 38.8  ดัชนีความเชื่อมั่นฯ  ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 32.6               ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 32.5 และค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 43.1 ก็ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 42.9 แต่ค่าดัชนีทุกรายการยังคงต่ำกว่าที่ระดับ  50 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังมีความเปราะบาง จากปัจจัยต่างๆ รอบด้านโดยเฉพาะ  การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าภาคการเกษตรที่ยังไม่ดีขึ้น รายได้ของเกษตรกรหดตัวในระยะยาว และไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในครอบครัว ทั้งยังเกิดปัญหาภัยแล้ง สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตของชาวสวน ไร่นาและประมง กระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่มี ความเชื่อมั่นทั้งยังรอดูทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต จึงชะลอการจับจ่ายใช้สอยและใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น อีกทั้ง ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบระยะยาวจากโครงการประชานิยมที่ผ่านมา และเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวหลัก ที่เริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ทั้งยังก่อให้เกิดรายได้ในพื้นที่ รวมทั้ง รัฐบาลพยายามเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้มีเม็ดเงินกระจายสู่ภาคประชาชนอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม

ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 47.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ค่าดัชนียังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มี ความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) รวมทั้ง ตัวเลขการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ราคาสินค้า ภาคการเกษตรยังไม่ดีขึ้น แม้ภาคการท่องเที่ยวจะดีขึ้นเล็กน้อยก็ตาม

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ                  พ.ย. 57        ธ.ค. 57       ม.ค. 58         ก.พ. 58        มี.ค. 58      เม.ย. 58       พ.ค. 58
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม         44.2          44.2           43.3           42.4           40.0           38.8          38.9

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)

รายการ                           พ.ย. 57     ธ.ค. 57     ม.ค. 58      ก.พ. 58     มี.ค. 58     เม.ย. 58     พ.ค. 58
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     38.6        38.7        38.7         36.8        34.1         32.5        32.6
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     47.9        47.8        46.5         46.1        44.0         42.9        43.1

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                          พ.ย. 57      ธ.ค. 57      ม.ค. 58      ก.พ. 58      มี.ค. 58    เม.ย. 58     พ.ค. 58
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)        52.8         52.2         50.4         50.9         49.5        47.0        47.3

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                  พ.ย. 57      ธ.ค. 57      ม.ค. 58     ก.พ. 58     มี.ค. 58    เม.ย. 58      พ.ค. 58
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        61.1         62.4        60.0        62.4         61.7        59.8         58.5
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         13.6         14.6        15.2        13.0         14.6        14.6         15.3
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน       21.5         19.6        21.4        19.0         22.0        19.8         20.2
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค
          เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 39.6 เป็น 42.4 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 41.8 เป็น 43.5 ส่วนภาคที่ปรับลดลง คือ ภาคกลาง จาก 42.7 เป็น 39.3 ภาคเหนือ จาก 41.3 เป็น 40.2 ภาคตะวันออก จาก 30.9 เป็น 30.0 และภาคใต้จาก 31.1 เป็น 29.6 ทั้งนี้ ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครอบครัว ทั้งยังประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำเติมสร้างความเสียหายแก่ผลผลิต หลายจังหวัดของประเทศประสบปัญหาภัยแล้งมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้ง บางพื้นที่น้ำยังไม่เพียงพอต่อ           การอุปโภคบริโภค ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก รวมทั้ง เหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การอ่านค่าดัชนี   ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ "ดี"
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ "ไม่ดี"

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ