รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 30, 2016 16:30 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2559

ค่าดัชนีฯปรับตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน แต่ภาพรวมยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นฯ เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ขยายวงกว้าง ภาระหนี้ครัวเรือนและเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวนไม่มีความแน่นอน

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,505 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 38.1 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2559 ที่มีค่า 36.4 โดยปรับตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 32.0 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 30.9 และค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 42.2 ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 40.0 แม้ว่าค่าดัชนีทุกรายการจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ภายใต้ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งมีความกังวลด้านปัญหาภัยแล้งที่ขยายวงกว้าง โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจและประเมินสถานการณ์น้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน หลายพื้นที่หยุดการเพาะปลูกชั่วคราวเพื่อเก็บน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค ขณะที่ตัวเลขการส่งออกลดลงต่อเนื่องจากภาวะที่เศรษฐกิจโลกผันผวน หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันขายปลีกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องและการปรับลดลงของราคาขายปลีกก๊าซ LPG ลง 2 บาทต่อกิโลกรัม มาอยู่ที่ 20.29 บาทต่อกิโลกรัม รวมทั้ง กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตปรับลดราคาสินค้าลงตามต้นทุนราคาน้ำมันที่ปรับลดลงเพื่อลดภาระค่าครองชีพ สำหรับในอนาคตคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นักท่องเที่ยวจะมีส่วนช่วยให้เกิดการกระจายรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 47.7 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 45.1 แต่ค่าดัชนียังอยู่ภายใต้ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต ด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันปรับลดลง แต่ยังอยู่ในระดับที่มีความเชื่อมั่นฯ การวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัญหา ภัยแล้งที่สร้างความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรทำให้ผลผลิตและรายได้ลดลง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ               ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม     34.6     35.4     36.2     37.6     37.2     36.4     38.1

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)

รายการ                            ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     28.5     28.4     27.7     29.6     30.1     30.9     32.0
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     38.7     40.0     42.0     42.9     42.0     40.0     42.2

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                        ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     44.9     45.9     48.3     49.2     47.8     45.1     47.7

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                    ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                    21.5     22.3     21.4     23.8     24.2     25.4     26.9
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     25.9     27.5     27.6     29.2     29.3     28.7     31.0

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        58.9     52.9     53.8     54.4     56.0     55.3     53.0
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         13.4     12.7     13.0     13.0     14.6     12.8     13.3
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน       19.3     19.7     19.7     20.6     20.8     19.5     21.6
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ทุกภาคปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนี้ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 36.3 เป็น 37.2 ภาคกลาง จาก 42.6 เป็น 43.0 ภาคเหนือ จาก 37.1 เป็น 39.6 ภาคตะวันออก จาก 33.0 เป็น 33.4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก 41.3 เป็น 41.5 และภาคใต้จาก 23.9 เป็น 30.4 แต่ทั้งนี้ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังกังวลและยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจาก วิกฤติภัยแล้งที่ขยายวงกว้างประชาชนได้รับความเดือดร้อนปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค บางพื้นที่เกิดไฟป่าสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศน์ รวมทั้ง สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สร้างความเดือดร้อนและความสูญเสียแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบริโภคและค่าสาธารณูปโภค ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพของประชาชน

2. ดูแลราคาสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร

3. ส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายๆจังหวัด

4. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เร่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

5. เพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างจริงจัง

ด้านสังคม

1. เร่งปราบปรามปัญหายาเสพติด ปัญหาการทุจริต/คอรัปชั่น

2. หามาตรการรองรับปัญหาแรงงาน รวมทั้ง แก้ไขปัญหาความยากจน ส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้

3. ดูแลหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

4. แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

5. ปรับปรุงระบบการศึกษาไทย ส่งเสริมการศึกษาทางไกล

6. แก้ไขปัญหาการประมงของไทย

7. ปฏิรูประบบราชการเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ