รายงานดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจ ไตรมาสที่ 3/2560 (กรกฎาคม - กันยายน 2560)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 9, 2017 16:01 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

รายงานดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจ ไตรมาสที่ 3/2560 (กรกฎาคม - กันยายน 2560)

ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการไตรมาส 3/2560 ชะลอตัวลง เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน และผู้ประกอบการมีความกังวลต่อกำลังซื้อจากการระมัดระวังการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน

ดัชนี                      Q2/57   Q3/57   Q4/57   Q1/58   Q2/58   Q3/58   Q4/58   Q1/59   Q2/59   Q3/59   Q4/59   Q1/60   Q2/60
สถานการณ์ปัจจุบัน (Q/Q)       43.0    46.1    44.1    42.0    39.0    37.1    42.9    42.6    42.8    41.6    44.0    45.2    43.5
คาดการณ์ไตรมาสถัดไป (NQ)    61.4    64.5    60.7    54.8    51.6    53.9    57.5    51.2    55.5    57.5    61.0    55.4    54.4

ผลการสำรวจภาวะธุรกิจไตรมาส 2 ปี 2560 ในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 จากผู้ประกอบการจำนวน 1,868 ราย พบว่า ดัชนีภาวะธุรกิจ มีค่า 43.5 ต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งมีค่า 45.2 ค่าดัชนีต่ำกว่า ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังไม่มีความเชื่อมั่น เนื่องจากมีความกังวลต่อกำลังซื้อภายในประเทศจากการระมัดระวังการใช้จ่ายของครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุนประกอบการสูงขึ้น ขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบ

ขณะที่ ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้า มีค่า 54.4 ซึ่งมีค่าสูงกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2560 ยังมีทิศทางที่ดี เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นจากการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เกษตรกร และเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ รวมทั้งภาคการส่งออกของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ

ผลสำรวจภาวะธุรกิจรายสาขา

เมื่อพิจารณาจากผู้ประกอบการรายสาขา พบว่า สาขาการเงินและการประกันภัย และก่อสร้าง ค่าความเชื่อมั่นแม้จะชะลอตัวลงแต่ดัชนียังอยู่เหนือระดับ 50 ขณะที่สาขาอื่นๆ ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ภาวะการแข่งขัน และต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการทุกสาขามีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ สังเกตได้จาก ค่าดัชนีสูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า มีทิศทางที่ดี

ผลสำรวจภาวะธุรกิจรายภาค

ภาวะธุรกิจรายภาคต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่าทุกดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบ ภาวะการแข่งขันสูง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุน

สำหรับการคาดการณ์อีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นลดลงในภาคกลาง เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคใต้ ที่ค่าดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 จากสภาพอากาศ และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะยางพารา และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ขาดกำลังซื้อและการค้าซบเซาลง ขณะที่กรุงเทพและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจากภาวะการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ

ความคิดเห็น

1. ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ กระแสเงินหมุนเวียนน้อย การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว ขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

2. การค้าในประเทศค่อนข้างหดตัว การเงินไม่สะพัด การทำธุรกิจมีการแข่งขันสูงเนื่องจากกำลังซื้อลดลง

3. ต้นทุนประกอบการสูงขึ้น ขาดแคลนแรงงาน และวัตถุดิบ

4. ค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นปัจจัยกระทบต่อการส่งออก

5. ภาวะราคาผลผลิตทางการเกษตรต่ำไม่สอดคล้องกับต้นทุนปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น

6. ต้นทุนค่าแรงเป็นปัจจัยสำคัญ มีผลต่อกำไรขาดทุน กำลังซื้อยังไม่ต่อเนื่องเต็มที่

7. กลุ่มโมเดิร์นเทรดขยายสาขา จนทำให้พ่อค้าท้องถิ่นแข่งขันได้ยาก

8. ภาวะหนี้สินในภาคครัวเรือนสูง เนื่องจากมีการกู้เงินในอนาคตมาใช้ในสินค้าฟุ่มเฟือยค่อนข้างมาก

9. ค่าใช้จ่ายในการบริหาร และต้นทุนในการขนส่งสูง

10. ปัจจุบันโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมีกำลังการผลิตมากกว่าผลผลิตปาล์มน้ำมัน 2-3 เท่าตัว ทำให้เกิดการ แข่งขันแย่งชิงวัตถุดิบ ทำให้ราคาวัตถุดิบไม่สอดคล้องกับราคาน้ำมันปาล์ม

ข้อเสนอแนะ

1. อุดหนุนเกษตรกรให้มีรายได้มากขึ้น โดยแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต

2. สนับสนุนเงินกู้ และเงินทุนหมุนเวียนให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

3. ส่งเสริมธุรกิจในส่วนภูมิภาค เพื่อการหมุนเวียนของเศรษฐกิจท้องถิ่น

4. ส่งเสริมให้มีการจัดงานท่องเที่ยว งานผลไม้ และมหกรรมการแสดงสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยออกสื่อประชาสัมพันธ์ให้อย่างต่อเนื่อง

5. ส่งเสริมให้ชาวไร่ปลูกมะละกอที่ไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรม (NON GMO)

6. ส่งเสริมให้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน เช่น ลดภาษี และดอกเบี้ย เพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายมากขึ้น

7. ส่งเสริมการแปรรูปสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่า และหาตลาดรองรับ

8. ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ

9. ส่งเสริมการส่งออก และลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่างๆ

10. สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศ CLMV

11. แก้ไขปัญหายาเสพติดและขจัดคอรัปชั่นอย่างจริงจัง

12. แบ่งเขตการค้าการเกษตร โดยปลูกพืชเป็นโซนนิ่งอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ผลผลิตออกมาพร้อมๆกันจนล้นตลาด

13. ควรมีการเก็บภาษีการขายสินค้าผ่านธุรกรรมออนไลน์ให้มากขึ้น

ที่มา: สำนักสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

โทร. 0 2507 5805 โทรสาร. 0 2507 5806 / 0 2507 5825

www.price.moc.go.th Email: gsurvey@moc.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ