รายงานดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจไตรมาสที่ 4/2560 (ตุลาคม - ธันวาคม 2560) และปี 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 1, 2017 14:22 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการไตรมาส 4/2560 มีแนวโน้มดีขึ้น แต่มีความกังวลต่อกำลังซื้อของภาคเกษตร ต้นทุน และการแข่งขันสูง

ผลการสำรวจภาวะธุรกิจไตรมาส 3 ปี 2560 ในช่วงเดือนกันยายน 2560 จากผู้ประกอบการจำนวน 1,870 ราย พบว่า ดัชนีภาวะธุรกิจ มีค่า 42.0 ต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งมีค่า 43.5 ค่าดัชนีต่ำกว่า ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังไม่มีความเชื่อมั่น เนื่องจากมีความกังวลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ ต้นทุน และการแข่งขันสูง

ขณะที่ ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้า มีค่า 57.3 และคาดการณ์ปี 2561 มีค่า 66.4 ซึ่งมีค่าสูงกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2560 และปี 2561 มีทิศทางที่ดี จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวจากการส่งออก และการท่องเที่ยว มาตรการภาครัฐ ทั้งด้านการลงทุน การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ

ผลสำรวจภาวะธุรกิจรายสาขา

เมื่อพิจารณาจากผู้ประกอบการรายสาขา พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทุกสาขาปรับตัวลดลง และมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนลดลง จากราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการ อีกทั้ง ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น จากวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน กอปรกับเผชิญกับ ภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น

สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการทุกสาขามีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ สังเกตได้จาก ค่าดัชนีสูงกว่าระดับ 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า มีทิศทางที่ดี

ผลสำรวจภาวะธุรกิจรายภาค

ภาวะธุรกิจรายภาคต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่าทุกภาคดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อน ให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจาก ธุรกิจมีการแข่งขันสูงขึ้น และ ขาดสภาพคล่อง กำลังซื้อลดลง ส่งผลให้ผลประกอบการลดลง อีกทั้ง ต้นทุนประกอบการสูงขึ้น จากค่าแรง วัตถุดิบ และ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ กอปรกับภาวะน้ำท่วมส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ การดำเนินชีวิตและ การประกอบอาชีพของประชาชน ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง

          สำหรับการคาดการณ์อีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นลดลงในภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ  แต่ค่าดัชนียังอยู่สูงกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อ ภาวะเศรษฐกิจในอนาคต จากการส่งออก และการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัว อีกทั้ง มาตรการต่างๆ ของภาครัฐ              ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ

ความคิดเห็น

1. การลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากมีความชัดเจนในเรื่องโครงการคมนาคมของประเทศ

2. กำลังซื้อมีน้อย การแข่งขันสูง กระทบต่อยอดขาย

3. ต้นทุนประกอบการสูงขึ้น ขาดแคลนแรงงาน และวัตถุดิบ

4. ค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นปัจจัยกระทบต่อการส่งออก

5. ธุรกิจสิ่งพิมพ์มีแนวโน้มปิดตัวลง เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาหลายช่องทาง

6. ภาวะน้ำท่วม ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรลดลง

7. กำลังเข้าสู่ช่วง High Season คาดว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้น

ข้อเสนอแนะ

1. รัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน เน้นการลงทุนที่ทำให้เกิดการจ้างงาน และกระจายตัวสู่ท้องถิ่น

2. ดูแลราคาผลผลิตทางการเกษตร ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อให้ผลผลิตของเกษตรกรในประเทศขายได้ในราคาสูงขึ้น

3. ควรมีนโยบายทางการเงินที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อเสริมสภาพคล่อง

4. ชะลอการปรับค่าจ้างแรงงาน เพราะเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ

5. หาตลาดเพื่อการกระจายสินค้าเพิ่มขึ้น

6. ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว

7. พัฒนาสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ควบคู่กับการทำตลาด และแปรรูปสินค้าเกษตรให้สามารถส่งออกได้

8. ควบคุมการขยายตัวของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการท้องถิ่น

9. สร้างรถไฟรางคู่ทุกจังหวัด เพื่อขนส่งสินค้า แทนการขนส่งสินค้าทางถนน และเป็นการลดอุบัติเหตุ

10. ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ

11. พัฒนาการศึกษา

12. กำจัดการคอรัปชั่นอย่างจริงจัง

13. รัฐบาลควรเร่งดำเนินการให้โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อส่งเสริม การลงทุน และกระตุ้นเศรษฐกิจ

ที่มา: สำนักสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

โทร. 0 2507 5805 โทรสาร. 0 2507 5806 / 0 2507 5825

www.price.moc.go.th Email: gsurvey@moc.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ