รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 4, 2018 15:06 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2560 ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปัจจุบันและอนาคตปรับตัวสูงขึ้น โดยความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และอีก 3 เดือนข้างหน้า ความคาดหวังของรายได้อีก 3 เดือนข้างหน้า โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน และอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้ง การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ และการวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ปรับสูงขึ้นเช่นกัน

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2560 จากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ 77 จังหวัด ทั่วประเทศ จำนวน 3,553 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 40.6 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่มีค่า 40.0 รวมทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน และอนาคต ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ 33.9 และ 45.0 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 33.1 และ 44.5 ตามลำดับ ทั้งนี้ ค่าดัชนียังอยู่ต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศ (ช็อปช่วยชาติ) ซึ่งสิ้นสุดมาตรการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ได้ผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี มีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าต่างๆ จำนวนมาก ส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาที่ 53.3 มาอยู่ระดับ 53.6 ซึ่งค่าดัชนียังคงสูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นต่อการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพอย่างต่อเนื่อง

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทั่วไป ได้แก่ ความคาดหวังของประชาชนอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ และรายได้ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 51.5 และ 50.3 มาอยู่ที่ 52.1 และ 51.0 ตามลำดับ โดยค่าดัชนีสูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงมีความเชื่อมั่นว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า เศรษฐกิจและรายได้จะดีขึ้น สำหรับ ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน การหางานทำปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับเพิ่มขึ้น จาก 40.2 26.0 และ 31.7 มาอยู่ที่ 41.5 26.4 และ 31.9 ตามลำดับ แต่ค่าดัชนียังอยู่ต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน การหางานทำในปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการใช้จ่าย ได้แก่ การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 13.6 มาอยู่ที่ 13.7 ขณะที่ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพเทียบกับ 3 เดือนที่ผ่านมา และการวางแผนที่จะซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าคงทนต่างๆ อีก 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 50.4 และ 20.1 มาอยู่ที่ 49.4 และ 19.8 ตามลำดับ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ               มิ.ย.60   ก.ค.60   ส.ค.60   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม     39.5     38.6     38.4     39.5     39.7     40.0     40.6

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)
รายการ                            มิ.ย.60   ก.ค.60   ส.ค.60   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     32.9     31.9     32.1     33.0     33.0     33.1     33.9
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     43.9     43.1     42.6     43.9     44.2     44.5     45.0

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                        มิ.ย.60   ก.ค.60   ส.ค.60   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     49.8     48.2     48.6     49.7     49.4     50.3     51.0

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                     มิ.ย.60   ก.ค.60   ส.ค.60   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                     25.2     25.2     24.9     25.8     27.6     26.0     26.4
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)      31.3     31.5     30.1     31.9     33.2     31.7     31.9

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                   มิ.ย.60   ก.ค.60   ส.ค.60   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        54.3     54.0     54.1     52.4     53.7     53.3     53.6
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         14.9     13.3     14.6     14.7     14.0     13.6     13.7
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน       21.3     19.7     21.0     19.5     19.4     20.1     19.8
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม 2560 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาคกลาง จาก 42.2 เป็น 43.9 ภาคเหนือ จาก 40.3 เป็น 40.4 ภาคตะวันออก จาก 38.6 เป็น 42.0 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก 45.4 เป็น 46.0 และภาคใต้ จาก 31.4 เป็น 33.3 เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ มีการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อจำหน่ายในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ส่งผลต่อการจ้างงานและชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น มีการจัดมหกรรมลดราคาสินค้าจากร้านค้า และศูนย์การค้าต่างๆ ในราคาพิเศษส่งท้ายปี ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยซื้อของขวัญ และของฝาก ประกอบกับราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนปรับลดลง นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรบางชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อรายได้เกษตรกร ในส่วนของภาครัฐได้มีการกระตุ้น การใช้จ่ายผ่านมาตรการลดหย่อนภาษี การท่องเที่ยวในประเทศ และมาตรการทางการตลาด ด้วยการจัดโครงการ เที่ยวทั่วไทย ไปถึงถิ่น เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว เกิดการใช้จ่ายในท้องถิ่น และโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจในชุมชนขยายตัวจากการจับจ่ายสินค้า มีเงินสะพัดในท้องถิ่นระดับรากหญ้า ขณะที่ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ดัชนีฯ ปรับตัวลดลง จาก 39.1 เป็น 37.7 ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ จากหนี้ภาคครัวเรือนและค่าครองชีพอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงความกังวลกับกำลังซื้อในอนาคต ทำให้การวางแผนใช้จ่ายของผู้บริโภคยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือนไม่สูงมาก

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรแบบครบวงจร และให้ได้ราคาดี เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และหาตลาด เพื่อระบายผลผลิต รวมทั้ง รัฐบาลควรมีการควบคุมพื้นที่เพาะปลูก เพื่อไม่ให้สินค้ามีมากจนล้นตลาด

2. ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพสูง รายได้ยังกระจุกตัว

3. รัฐบาลต้องพัฒนาโครงการต่างๆ ในท้องถิ่น เพื่อกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก ให้เงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น

4. ลดราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค

5. พัฒนาศักยภาพในด้านการผลิตสินค้า

6. ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ

7. ผู้นำท้องถิ่นขาดวิสัยทัศน์ แม้ว่าภาครัฐจะมีงบประมาณลงไป แต่ก็ยังไม่สามารถนำเงินนั้นมาต่อยอดให้เกิดรายได้ในชุมชน

8. รัฐบาลควรพิจารณาว่าเศรษฐกิจท้องถิ่นมีปัญหาด้านใด จะได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดเงินหมุนเวียน และควรเพิ่มพี่เลี้ยง

ให้แก่ท้องถิ่นบางแห่ง เพื่อดำเนินตามโครงการของรัฐ เป็นการต่อยอดให้เกิดรายได้ในชุมชน

9. รัฐบาลควรปรับอัตราค่าจ้าง ให้เหมาะสมกับตำแหน่งงาน โดยเพิ่มค่าจ้างแรงงานตามความสามารถ และประสบการณ์

10. พัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หาช่องทางจำหน่ายสินค้า OTOP และสนับสนุนให้จังหวัดจัดกิจกรรมหรือ หาตลาด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาใช้จ่ายในชุมชน

11. กระตุ้นเศรษฐกิจ

12. ให้ความอิสระในการทำมาหากินของคนรากหญ้า และหาตลาดรองรับสินค้าของประชาชนให้มากขึ้น

13. ควรเร่งดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน

14. กระจายรายได้ให้ทั่วถึงประชาชนทุกกลุ่ม

ด้านสังคม

1. แก้ปัญหาการคอรัปชั่น การว่างงาน ระบบการศึกษา ยาเสพติด ความยากจน โครงสร้างพื้นฐาน และความไม่สงบในประเทศ

2. ส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวระดับชุมชนและภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

3. หาแนวทางในการป้องกันการจับสัตว์น้ำที่ไม่ได้ขนาดมาจำหน่าย เช่น ปูดำ

4. ดูแลปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชน

5. พัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ว่างงานให้ตรงตามความต้องการของตลาด

6. รัฐควรตรวจสอบกิจกรรมโครงการต่างๆ เพื่อไม่ให้มีการคอรัปชั่น

7. ส่งเสริมอาชีพ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนแก่ประชาชน

กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์

4 มกราคม 2561


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ