ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนพฤษภาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 25, 2018 10:29 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนพฤษภาคม 2561 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 สูงขึ้นร้อยละ 4.7 (YoY) ปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า สาเหตุหลักเป็นผลจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักและคู่ค้ารองปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ดัชนีราคานำเข้า เดือนพฤษภาคม 2561 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 ปรับสูงขึ้นร้อยละ 7.3 (YoY) เป็นผลจากการปรับสูงขึ้นของทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลก ที่ลดลง ขณะที่ความต้องการใช้เพิ่มขึ้น รองลงมาคือ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง และ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค

ดัชนีราคาส่งออก เดือนพฤษภาคม 2561 เท่ากับ 101.2 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 (ปี 2555=100) สูงขึ้นร้อยละ 4.7 (YoY) ปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นจากเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ นอกจากนี้ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปรับตัวสูงขึ้นตามสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ประกอบกับมีความต้องการสินค้าจาก ตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นจากน้ำมันสำเร็จรูป ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ที่ปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าเกษตรกรรมสูงขึ้นจาก ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรสูงขึ้นจาก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ตามความ - ต้องการสินค้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารที่มีการขยายตัว ขณะที่กลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา น้ำตาลทราย ตามปริมาณผลผลิตส่วนเกินที่มีอยู่ในตลาดเป็นปริมาณมาก

ดัชนีราคานำเข้า เดือนพฤษภาคม 2561 เท่ากับ 93.7 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 (ปี 2555=100) สูงขึ้นร้อยละ 7.3 (YoY) ปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยได้รับแรงหนุนจากหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูปจากการปรับลดกำลังการผลิตลงอย่างต่อเนื่องของผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ทองคำ สินแร่โลหะอื่นๆ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดยานพาหนะ และอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์- เวชกรรมและเภสัชกรรม สบู่ ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤษภาคม 2561

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 743 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤษภาคม 2561 เท่ากับ 101.2 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนเมษายน 2561 เท่ากับ 101.0) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนพฤษภาคม 2561 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 100.0 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม - การเกษตร เท่ากับ 107.1 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.8 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 84.6

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤษภาคม 2561 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนเมษายน 2561 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.2 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกตามรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ ปัจจัยหลักเป็นผลจากปริมาณน้ำมันดิบตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงหมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว เนื่องจากความต้องการข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณผลผลิตน้อยลงโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสูงขึ้นตามความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างจีนและตลาดใหม่ๆ เช่น ตุรกี และนิวซีแลนด์ เป็นต้น สำหรับไก่แช่เย็นแช่แข็ง ราคาสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ประกอบกับคู่แข่งอย่างบราซิลประสบปัญหาคุณภาพมาตรฐานสินค้า ขณะที่ดัชนีราคาส่งออกที่ปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ทองคำ โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ความน่าสนใจในทองคำลดลง นอกจากนี้เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย เนื่องจากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการยังมีปริมาณน้อยลง

2.2 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 4.7 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สิ่งทอ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง สินค้าปศุสัตว์ (ไก่) สินค้าประมง (ปลา ปลาหมึก) และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2560 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 4.7 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ทองคำ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ อาหารสัตว์เลี้ยง โดยสาเหตุหลักที่ราคาสินค้าส่งออกปรับสูงขึ้น เป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้ความต้องการของตลาดต่างประเทศมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกปรับสูงขึ้น

ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกปี 2561 คาดว่าจะมีทิศทางสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศ คู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดีในหลายกลุ่มสินค้าและตลาดสำคัญ รวมถึงปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกินเริ่มกลับเข้าสู่สมดุล ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มของราคาสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน ที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา เหล็ก น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการส่งออกของไทยยังคงมีอยู่ เช่น ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ และการค้าของประเทศคู่ค้า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของ กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เป็นต้น

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ