ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 1, 2019 14:53 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคม 2562

ปรับตัวดีขึ้นที่ระดับ 50.5 สูงที่สุดในรอบเกือบ 14 ปี

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคม 2562 โดยรวมอยู่ที่ระดับ 50.5 ซึ่งอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นสูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี 10 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 41.4 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ระดับ 56.6 ชี้ว่าสถานการณ์ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของไทยมีทิศทางแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนข้างหน้า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (อยู่ในระดับเชื่อมั่นทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปัจจุบัน และอนาคต ที่ระดับ 59.8 51.2 และ 65.6 ตามลำดับ) ทั้งนี้ กลุ่มที่มีความเชื่อมั่นสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มไม่ได้ทำงาน กลุ่มรับจ้างอิสระและพนักงานของรัฐเท่ากัน กลุ่มผู้ประกอบการ ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ ยังอยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่น ได้แก่ นักศึกษา กลุ่มพนักงานเอกชน และกลุ่มเกษตรกร

โดยรวม คาดว่าสถานการณ์ความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับดังกล่าว จะทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการ และเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อเงินเฟ้อที่มาจากความต้องการ (Demand Pull) ให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกตามกลุ่มอาชีพ

กลุ่มที่มีความเชื่อมั่นสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มไม่ได้ทำงาน (ระดับ 53.1) กลุ่มรับจ้างอิสระและพนักงานของรัฐมีความเชื่อมั่นเท่ากัน (ระดับ 51.4) กลุ่มผู้ประกอบการ (ระดับ 51.2) ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ ยังไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ได้แก่ กลุ่มนักศึกษา (ระดับ 49.9) กลุ่มพนักงานเอกชน (ระดับ 49.0)และกลุ่มเกษตรกร (ระดับ 48.8) เป็นที่น่าสังเกตว่า ความเชื่อมั่นโดยรวมของกลุ่มเกษตรกรในเกือบทุกภาคอยู่ในช่วงเชื่อมั่น (ยกเว้นภาคใต้ และ กทม./ปริมณฑล)

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนมกราคม 2562 จำแนกรายภาค พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเชื่อมั่น มีเพียงภาคใต้ และกทม./ปริมณฑล เท่านั้น ที่ยังไม่เชื่อมั่น โดยเฉพาะภาคใต้ ที่เกือบทุกกลุ่มอาชีพ (ยกเว้นกลุ่มพนักงานของรัฐ และกลุ่มไม่ได้ทำงาน) ยังไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งคาดว่า สาเหตุหลักน่าจะมาจากราคาสินค้าเกษตรที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นของภาคเป็นสำคัญ

ผลการศึกษาอื่นๆ ที่น่าสนใจประจำเดือนมกราคม 2562

ภาระหนี้สินของประชาชน จากผลการสำรวจ พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 31.5 ไม่มีภาระหนี้สิน ในขณะที่ 68.5 มีภาระหนี้สิน และส่วนใหญ่เป็นภาระหนี้ในระบบ (ร้อยละ 88.1) ส่วนภาระหนี้นอกระบบมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.8 ที่เหลือเป็นกลุ่มที่มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ (ร้อยละ 5.1) โดยกลุ่มที่มีภาระหนี้สิน มีความเห็นว่า ภาระหนี้ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของตนมากเพียงร้อยละ 38.1 ในขณะที่ร้อยละ 46.8 เห็นว่ามีผลกระทบน้อย และไม่มีผลกระทบ ร้อยละ 15.1 อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคร้อยละ 51.7 ยังมีความเห็นว่า รายได้ยังไม่ค่อยเพียงพอต่อการใช้จ่าย

สัดส่วนการออม จากผลการสำรวจ พบว่า ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการออมโดยเฉลี่ยร้อยละ 15.5 ของรายได้ โดยกลุ่มที่มีสัดส่วนการออมมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มพนักงานของรัฐ และกลุ่มนักศึกษา เท่ากัน (ร้อยละ 17.1 ของรายได้) ในขณะที่กลุ่มไม่ได้ทำงาน และกลุ่มรับจ้างอิสระ มีสัดส่วนการออมต่ำที่สุด (ร้อยละ 13.7 และร้อยละ 13.3 ของรายได้ ตามลำดับ) ในจำนวนนี้พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (รายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท/เดือน) มีสัดส่วนการออมเพียงร้อยละ 9.8 ของรายได้ และกลุ่มผู้มีรายได้สูง (รายได้มากกว่า 100,000 บาท/เดือน) มีสัดส่วนการออมถึงร้อยละ 32.5 ของรายได้ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในกลุ่มเป้าหมาย (Marginal Propensity to Consume: MPC) และผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินนโยบาย/มาตรการของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ