ดัชนีภาวะธุรกิจส่งออก (Export Business Index) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 25, 2019 15:03 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

Highlights

ภาพรวมดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เท่ากับ 46.9 โดยแม้ว่าจะมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งแสดงว่าภาคการส่งออกยังคงชะลอตัว แต่ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ในระดับ 45.4 แสดงว่า ผู้ส่งออกเริ่มมีมุมมองว่า ภาวะธุรกิจส่งออกโดยรวมน่าจะมีทิศทางดีขึ้น และ จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ส่งออก จำนวน 302 ราย มีรายละเอียดผลการสำรวจดังนี้

ดัชนีมูลค่าส่งออก

ดัชนีมูลค่าส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีค่าเท่ากับ 42.5 แสดงว่า มูลค่าการส่งออกยังมีทิศทางชะลอตัว สาเหตุมาจากเศรษฐกิจโลก ชะลอตัวลง ส่งผลต่อการส่งออกไทย อีกทั้งเงินบาทแข็งค่าทำให้ราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง และมีวันหยุดยาวของประเทศคู่ค้าที่สำคัญในเทศกาลตรุษจีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าวและยางพารา ราคาสูงกว่าคู่แข่ง ทางการค้าทำให้คำสั่งซื้อลดลง

สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าส่งออก ลดลง ได้แก่ ข้าว ผักผลไม้ สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ยางพารา อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อาหารสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงและพลังงาน

ขณะที่สินค้าที่มีมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่

ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ เดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีค่าเท่ากับ 43.9 แสดงว่า คำสั่งซื้อใหม่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ข้าวและยางพารา จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการเสียเปรียบในการแข่งขันด้านราคา

สินค้าที่มีมูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ ลดลง ได้แก่ ข้าว ผักผลไม้ สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ยางพารา อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง อาหารทะเล กระป๋องและแปรรูป สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงและพลังงาน

ขณะที่สินค้าที่มูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ

ดัชนีการจ้างงาน

ดัชนีการจ้างงาน เดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีค่าเท่ากับ 50.2 แสดงให้เห็นว่าการจ้างงานของภาคการส่งออกปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะ สินค้าเกษตร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

สินค้าที่มีมูลค่าการจ้างงาน เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ผักผลไม้ สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่แช่เยือกแข็ง และแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูป

ขณะที่สินค้าที่มูลค่าการจ้างงาน ลดลง ได้แก่ ยางพารา อาหาร ทะเลแช่เยือกแข็ง สิ่งทอ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ รองเท้าและชิ้นส่วน

ดัชนีสินค้าคงคลัง

ดัชนีสินค้าคงคลังเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีค่าเท่ากับ 50.9 แสดงว่ามูลค่าสินค้าคงคลังมีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นผลจากการบริหารจัดการสินค้าคงคลังเพื่อเก็บไว้เป็นสต๊อกสินค้ารอการส่งมอบ

สินค้าคงคลังที่ เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อาหารสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงและพลังงาน

ขณะที่มูลค่าสินค้าคงคลังที่ ลดลงได้แก่ ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้าและชิ้นส่วน

ปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ส่งออก

ปัญหา
  • อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากในช่วงต้นปีและมีความผันผวนระหว่างเดือนสูง ทำให้รายได้ของภาคการส่งออกลดลง เมื่อแปลงเป็นสกุลเงินบาท
  • ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการกำหนดราคาของบริษัท และความสามารถในการแข่งขันทางการค้า
  • การขนส่งทางเรือโดยตู้บรรจุสินค้าสำหรับการส่งออก (ตู้คอนเทนเนอร์) จำนวนเรือไม่เพียงพอต่อการส่งออกสินค้า การจองเรือยากขึ้น บริเวณท่าเรือกรุงเทพและแหลมฉบังการจราจรติดขัดทั้งภายในและภายนอกท่าเรือ
  • ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ความต้องการ สินค้าลดลง และไม่มีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง
  • ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อ เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอลง ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน
  • ความไม่แน่นอนจากการที่อังกฤษอาจจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (brexit) มีผลต่อการส่งออกไปสหภาพยุโรป เช่น ไก่แปรรูป
  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีผลกระทบทำให้ขายสินค้าได้น้อยลงโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร เช่น เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี
  • ขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ ในอุตสาหกรรมเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) ทำให้อัตราพนักงานเข้า

-ออกบ่อย ทำให้เกิดปัญหาคุณภาพสินค้า และขาดแคลนแรงงานไทยในอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอุตสาหกรรม ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป

ข้อเสนอแนะ

ภาครัฐควรดำเนินการ ดังนี้

  • ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เพื่อช่วยให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่ค้า
  • ขั้นตอนการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดของกรมการค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าของประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปรายละเอียดค่อนข้างมาก ควรปรับกระบวนการขอใบรับรองให้ง่ายและสะดวกรวดเร็วขึ้น
  • ส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้มากขึ้นในอาเซียน และผลักดันให้นำเข้าอย่างถูกต้อง
  • ดูแลมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาและจีน โดยเฉพาะมาตรการภาษีนำเข้า ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง และควรมีการหารือกับผู้ส่งออกที่เสียโอกาสทางการค้า
  • ให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางการค้า สิทธิประโยชน์ทางภาษีใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ

ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ