ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนกันยายน 2562 และเฉลี่ยระยะ 9 เดือนของปี 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 25, 2019 15:13 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนกันยายน 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (YoY) ปัจจัยหลักเป็นผลจากราคาในหมวดสินค้าเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมการเกษตร ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับตลาดคู่ค้าหลักปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกลดลง (น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ) สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง

ดัชนีราคานำเข้า เดือนกันยายน 2562 ลดลงร้อยละ 0.6 (YoY) เป็นผลจากหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ขณะที่หมวดสินค้าอื่นปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ และสถานการณ์ Brexit ที่ยังไม่ชัดเจน รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่า อาจเป็นปัจจัยกดดันต่อทิศทางราคาส่งออก-นำเข้าสินค้า และความสามารถทางการแข่งขันของไทยในระยะต่อไป

1. ดัชนีราคาส่งออก

1.1 ดัชนีราคาส่งออกเดือนกันยายน 2562 เท่ากับ 101.1 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2562 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.2 หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ เนื่องจากตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์อิหร่านโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย และอาจส่งผลต่อปริมาณการผลิตน้ำมันโลก ประกอบกับทิศทางการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาปรับตัวสูงขึ้น และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว เนื่องจากปัญหาภาวะภัยแล้ง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ราคาจึงปรับสูงขึ้น สำหรับไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ราคาสูงขึ้นจากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอียูเพิ่มปริมาณโควต้าการนำเข้าจากไทยมากขึ้น รวมถึงความต้องการบริโภคเนื้อไก่จากประเทศจีนเพื่อทดแทนราคาเนื้อสุกรที่สูงขึ้นมาก จึงส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกเนื้อไก่ไปจีนได้เพิ่มขึ้น และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังราคาสูงขึ้นจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับเกิดโรคระบาดไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง (CMD) สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม มีการเคลื่อนไหวของสินค้าสำคัญดังนี้ สินค้าส่งออกที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครี่องสำอาง สบู่ ส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ น้ำตาลทราย เป็นต้น

1.2 ดัชนีราคาส่งออกเดือนกันยายน 2562 เทียบกับเดือนกันยายน 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (YoY) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ปลาสด แช่เย็นแช่แข็ง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป ตามความต้องการของตลาดโลกที่มีอย่างต่อนื่อง ขณะที่ปริมาณผลผลิตน้อยลง สำหรับหมวดสินค้าที่ปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ส่วนหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกไม่มีการเปลี่ยนแปลง

1.3 ดัชนีราคาส่งออกเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (AoA) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ข้าว ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และปลาสด แช่เย็นแช่แข็ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2562 ยังคงต้องเฝ้าระวังจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัจจัยหนึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และปัญหา Brexit นอกจากนี้ มาตรการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ ความผันผวนของราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันดิบ สินค้าเกษตรบางรายการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุปทานล้นตลาด รวมถึงความผันผวนของราคาทองคำ ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย และอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อทิศทางราคาส่งออกของไทยในอนาคต

2. ดัชนีราคานำเข้า

2.1 ดัชนีราคานำเข้าเดือนกันยายน 2562 เท่ากับ 93.2 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (MoM) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น คือ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 2 แห่งของซาอุดิอาระเบียถูกโจมตีทางอากาศ ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์และรถจักรยานยนต์ ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป และหมวดสินค้าอุปโภคและบริโภค ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม และเครื่องสำอาง ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง

2.2 ดัชนีราคานำเข้าเดือนกันยายน 2562 เทียบกับเดือนกันยายน 2561 ลดลงร้อยละ 0.6 (YoY) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง คือ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และถ่านหิน ตามภาวะราคาตลาดโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับเงินบาทแข็งค่า ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ตามภาวะราคาในตลาดโลก ประกอบด้วยหมวดสินค้าทุน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ ผลิตภัณฑ์ทำจากยาง เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ ด้ายและเส้นใย ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก และสัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธุ์ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง นมและผลิตภัณฑ์นม และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก

2.3 ดัชนีราคานำเข้าเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.1 (AoA) ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม มีการเคลื่อนไหวของสินค้าสำคัญ ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าทุน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ทำจากยาง ตามภาวะราคาในตลาดโลก หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ ปูนซิเมนต์ ด้ายและเส้นใย สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า และกระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธุ์ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน นมและผลิตภัณฑ์นม ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และถ่านหิน และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ส่วนประกอบและอุปกรณ์ ยานยนต์ และส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน ปรับลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคานำเข้าในช่วงที่เหลือของปี 2562 คาดว่าเศรษฐกิจของไทยยังคงชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ อาจส่งผลต่ออุปสงค์ของสินค้าต่างๆ ในตลาด และระดับราคาสินค้านำเข้าของไทย นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ ยังคงเป็นแรงกดดันหลักที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าของไทย อย่างไรก็ดี ผลกระทบเชิงบวกในด้านค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการนำเข้าสินค้า

3. อัตราการค้า (Term of Trade) ของประเทศไทย เดือนกันยายน 2562

อัตราการค้าของไทย เป็นเกณฑ์วัดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้าของประเทศ พิจารณาจากอัตราส่วนระหว่างดัชนีราคาส่งออกกับดัชนีราคานำเข้า ซึ่งอัตราการค้าของไทย ในเดือนกันยายน 2562 เท่ากับ 108.5 (เดือนสิงหาคม 2562 เท่ากับ 108.5) ทั้งนี้ อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงว่าประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี พิจารณาจากราคาสินค้าส่งออกโดยรวมอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคานำเข้า อาทิ ผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง เครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่อง คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ปุ๋ย และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ราคาส่งออกยังคงสูงกว่าราคานำเข้าเช่นกัน

4. ข้อสังเกต

เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกและดัชนีราคานำเข้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ และรูปเงินบาท พบว่าทิศทางความเคลื่อนไหวแตกต่างกันมาก โดยดัชนีราคาส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐสูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนในรูปเงินบาทลดลงค่อนข้างมาก สำหรับดัชนีราคานำเข้าลดลงค่อนข้างมากทั้งในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ และรูปเงินบาท ซึ่งปัจจัยหลักเป็นผลจากเงินบาทแข็งค่าเป็นสำคัญ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การนำเข้าเพื่อการผลิตสินค้าลดลง รวมทั้งสินค้าบางรายการมีอุปทานส่วนเกิน โดยมีการเคลื่อนไหว ดังนี้

4.1 ดัชนีราคาส่งออก
  • ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ ดัชนีราคาส่งออกเดือนกันยายน 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YOY) ตามการสูงขึ้นของหมวดสินค้าเกษตรกรรม ร้อยละ 5.8 (ข้าว ยางพารา ไก่สด แช่เย้นแช่แข็ง) และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 0.7 (ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป) ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 9.5 (น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ)
  • ในรูปของเงินบาท ดัชนีราคาส่งออกเดือนกันยายน 2562 ลดลงร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YOY) ตามการลดลงของทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 15.3 (น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ) หมวดอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 6.2 (รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลดงร้อยละ 5.6 (อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล) และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลง ร้อยละ 0.8 (ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง)
4.2 ดัชนีราคานำเข้า
  • ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ ดัชนีราคานำเข้าเดือนกันยายน 2562 ลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YOY) จากการลดลงของหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ร้อยละ 13.9 (น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป) ขณะที่หมวดสินค้าอื่น ๆ ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้น ได้แก่ หมวดสินค้าทุน ร้อยละ 2.0 (เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ) หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 2.0 (ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ร้อยละ 0.9 (สบู่ ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง) และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ร้อยละ 1.9 (ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์)
  • ในรูปของเงินบาท ดัชนีราคานำเข้าเดือนกันยายน 2562 ลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YOY) ตามการลดลงของทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 19.3 (น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป) หมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 4.4 (เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ลดงร้อยละ 5.5 (เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัขกรรม) และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 4.5 (ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์)

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ