ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 25, 2020 13:12 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน กลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้ง ร้อยละ 0.2 (YoY) จากผลของราคาในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ลดลงร้อยละ 0.6 และ 5.4 ตามลำดับ โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ โดยเป็นการปรับลดลงตามราคาตลาดโลกและความต้องการที่ชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 3.1 และ 1.0 ตามลำดับ สินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ยางพารา ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋อง เครื่องดื่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูป สาเหตุหลักเป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดไวรัส Covid-19 ทำให้สินค้าประเภทอาหารและสินค้าจำเป็นอื่นๆ เป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น

ดัชนีราคานำเข้า เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.6 (YoY) ปรับตัวลดลงจากหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 10.4 ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม น้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันโลกจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ กาแฟ ชา เครื่องเทศ และเครื่องประดับอัญมณี หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น ๆ และเคมีภัณฑ์อื่น ๆ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก

แนวโน้มราคาส่งออก-นำเข้าของไทย คาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจาก 1) เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่เริ่มแผ่ขยายเป็นวงกว้างทั่วโลก ซึ่งหากการแพร่ระบาดกินระยะเวลายาวนาน อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ของสินค้าต่างๆ ในตลาดต่างประเทศ 2) ราคาน้ำมันปรับลดลงอย่างมาก เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาส่งออกในหมวดน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันลดลงตาม 3) แนวโน้มเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งมีผลให้ราคาในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่ทำให้ราคาส่งออก-นำเข้าสูงขึ้น ได้แก่ 1) ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดลดลง 2) ราคาทองคำที่ยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และ 3) การหยุดชะงักของการผลิตเนื่องจากมีอุปสรรคในการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตและส่งออก

อัตราการค้า (Term of Trade) เดือนกุมภาพันธ์ 2563

อัตราการค้าของไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เท่ากับ 109.0 (เดือนมกราคม 2563 เท่ากับ 107.8) ทั้งนี้ อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผัก และผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาดโลก ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาที่ได้รับจากการส่งออก ได้แก่ น้ำมันดิบ ทองคำ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ทองแดงและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น สาเหตุเนื่องจากเป็นสินค้าที่ราคาเปลี่ยนแปลงตามภาวะตลาดโลก และเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้ามาเป็นวัตถุดิบไม่สามารถผลิตเองได้

ดัชนีราคาส่งออกประจำเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เท่ากับ 100.5 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนมกราคม 2563 เท่ากับ 101.0) โดยดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 101.9 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 108.5 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.2 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 73.2

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 0.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติกและเครื่องจักรกล อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามความต้องการสินค้าที่ลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 8.5 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่ลดลงอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศผู้ใช้น้ำมันของโลกชะลอลงอย่างชัดเจน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.6 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว และกุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการชะลอตัว ประกอบกับเงินบาทแข็งค่ากว่าคู่แข่ง ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางการแข่งขัน และส่งผลกระทบให้การส่งออกลดลง ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.8 โดยเฉพาะน้ำตาลทรายตามปริมาณผลผลิตน้ำตาลโลกที่ปรับตัวลดลงจากปัญหาภาวะภัยแล้ง

2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 0.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.6 ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ทองแดงและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามความต้องการสินค้าที่ลดลง ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 5.4 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลง ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.1 ได้แก่ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ยางพารา ข้าว และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการของตลาดคู่ค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ที่มีแนวโน้มว่าปัญหาการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 จะทำให้จีนมีความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋อง เครื่องดื่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูป ปรับตัวสูงขึ้นตามการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และตอบสนองความต้องการสินค้าจากทั่วโลก เนื่องจากวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19

2.3 เฉลี่ย ม.ค.-ก.พ. ปี 2563 เทียบกับปี 2562 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.8 ได้แก่ ยางพารา ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ข้าว และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ราคาสูงขึ้นจากความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งเป็นสำคัญ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม ผลไม้กระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูป และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ทองแดงและผลิตภัณฑ์ และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เป็นผลจากความต้องการสินค้าชะลอตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

ดัชนีราคานำเข้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เท่ากับ 92.2 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนมกราคม 2563 เท่ากับ 93.7) โดยดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 62.6 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 104.5 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 98.1 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 104.6 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 96.2

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 1.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 9.4 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงอื่น ๆ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากปริมาณผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกประเทศจีนที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันโลกจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 1.0 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน หมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดสินค้าอุปโภคและบริโภค ลดลงร้อยละ 0.2 ได้แก่ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เครื่องประดับอัญมณี เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ทองคำ โดยตลาดทองคำยังคงได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์อื่น ๆ และกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 0.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 10.4 ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม น้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันโลกจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก

2.3 เฉลี่ย ม.ค.-ก.พ. ปี 2563 เทียบกับปี 2562 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 0.8 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.1 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ และเครื่องประดับอัญมณี หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์นั่ง หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์การทดสอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ได้แก่ ทองคำ และอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 3.7 ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และถ่านหิน

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ