ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 3, 2020 14:36 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนสิงหาคม 2563ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.0 เทียบกับระดับ 41.0 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 35.6 มาอยู่ที่ระดับ 36.9 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตเพิ่มขึ้นจากระดับ 44.5 มาอยู่ที่ระดับ 47.0

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนี้ มีสาเหตุสำคัญจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เป็นที่น่าสังเกตว่าความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ในระดับที่สูงกว่าความเชื่อมั่นปัจจุบัน ซึ่งเป็นสัญญานที่ดีว่าผู้บริโภคยังมีมุมมองในอนาคตว่าจะมีแนวโน้มที่ดีกว่าในปัจจุบัน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายอาชีพ

เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในเกือบทุกกลุ่มอาชีพโดยกลุ่มเกษตรกร เพิ่มขึ้นจากระดับ 42.1 เป็น 44.2 กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 38.0 เป็น 41.5 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 40.7 เป็น 42.8 กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 39.5 เป็น 40.5 กลุ่มพนักงานของรัฐจากระดับ 48.6 เป็น 49.2และเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มนักศึกษา และกลุ่มไม่ได้ทำงาน มีค่าดัชนีลดลงจาก 41.4และ 38.2 เป็น 39.5และ 37.8ตามลำดับ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายภาค

เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ายกเว้นกรุงเทพฯ และปริมณฑลปรับตัวลดลงจากระดับ 38.5 มาอยู่ที่ระดับ 37.9 คาดว่ามาจากสถานการณ์การชุมนุมประท้วงทางการเมืองที่ขยายวงกว้าง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย ขณะที่ภาคกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 41.9 มาอยู่ที่ระดับ 44.0 ภาคเหนือ จากระดับ 34.1 มาอยู่ที่ระดับ 42.3ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 44.0 มาอยู่ที่ระดับ 44.8และภาคใต้ จากระดับ 41.9 มาอยู่ที่ระดับ 43.1

ข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและอื่นๆ

ในรอบเดือนที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนซื้อสินค้าและบริการออนไลน์มีสัดส่วนร้อยละ 70.6 โดยผ่านช่องทาง platform สมัยใหม่ (Lazada,Shopee ) มากที่สุด ร้อยละ 44.7ตามด้วย ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โลตัส, บิ๊กซี, วัตสัน, โรบินสัน) ร้อยละ 26.6 และ Facebook ร้อยละ 17.7 ขณะที่ช่องทางอื่นๆ (Lineman, GrabFood, Foodpanda, Instagram, Weloveshopping ) มีเพียงร้อยละ 11.0

ข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและอื่นๆ

ในรอบเดือนที่ผ่านมา ประชาชนซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ประเภทต่างๆ โดยเป็นเครื่องนุ่งห่มและรองเท้ามากที่สุด ร้อยละ 24.1 ตามด้วยอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 20.8 สุขภาพและความงาม/ของใช้ส่วนบุคคลร้อยละ 19.1 ผลิตภัณฑ์และของใช้ภายในบ้านร้อยละ 17.3 ที่เหลือ ร้อยละ 18.6 ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์สื่อสาร การจองบริการออนไลน์และคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์บันเทิง/ของเล่น

ในรอบเดือนที่ผ่านมา ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เฉลี่ยต่อเดือน ต่ำกว่า 1,000 บาทร้อยละ 45.8 ซื้อในช่วง 1,001-3,000 บาทร้อยละ 39.9 ที่เหลือซื้อเกิน 3,000 บาทร้อยละ 14.3

เหตุผลที่ประชาชนตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ได้แก่ ความสะดวกสูงที่สุด ร้อยละ 34.0 ราคาถูกร้อยละ 21.3 มีให้เลือกหลากหลายร้อยละ 20.1 เปรียบเทียบราคาได้ง่ายร้อยละ 12.1 ที่เหลือร้อยละ 12.5 ได้แก่ โปรโมชั่น/คูปองส่วนลดและความน่าเชื่อถือ

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ