ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 5, 2020 15:19 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2563 เท่ากับ 44.6

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนตุลาคม 2563ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.6เทียบกับระดับ 45.1 ในเดือนก่อนหน้าเป็นการปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 37.2 มาอยู่ที่ระดับ 36.4 คาดว่ามาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งจากความกังวลต่อการระบาด Covid-19 รอบ 2อุทกภัยในหลายพื้นที่ การสิ้นสุดของมาตรการพักชำระหนี้ และสถานการณ์ทางการเมืองอย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง (สูงกว่าระดับ 50) ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งโดยรวม ปัจจุบัน และอนาคตในเดือนนี้ สอดคล้องและมีทิศทางเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายภาค

เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในส่วนภูมิภาคโดยรวมปรับตัวลดลง โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑลปรับตัวลดลงจากระดับ 44.8มาอยู่ที่ระดับ 44.5 ภาคกลาง จากระดับ 46.2มาอยู่ที่ระดับ 45.0 ภาคเหนือ จากระดับ 43.7มาอยู่ที่ระดับ 43.1 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 46.1มาอยู่ที่ 45.3 คาดว่ามาจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ขณะที่ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 45.5มาอยู่ที่ระดับ 45.8คาดว่ามาจากปัจจัยกลไกตลาดและมาตรการของรัฐบาล ส่งผลให้สถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมัน และยางพารามีทิศทางดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายอาชีพ

เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ กลุ่มพนักงานของรัฐจากระดับ 50.2 มาอยู่ที่ 50.3 กลุ่มนักศึกษาจากระดับ 42.8 มาอยู่ที่ 44.0 และกลุ่มไม่ได้ทำงาน จากระดับ 36.8 เป็น 41.2 คาดว่าที่ผ่านมาภาครัฐมีนโยบายกระตุ้นการจ้างงานใหม่ รักษาการจ้างงาน รวมถึงมาตรการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐให้การสนับสนุนเงินค่าจ้างร้อยละ 50 ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา สัญญาการจ้างงาน 1 ปี ร่วมกับภาคเอกชน โดยการร่วมมือกันในการกระตุ้นการจ้างงานภายใต้โครงการต่างๆ ที่รัฐบาลสนับสนุน ส่งผลให้การบริโภคกลับมา และเกิดความเชื่อมั่น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลุ่มอาชีพที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 44.2 มาอยู่ที่ 43.2 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 45.5 มาอยู่ที่ 44.5 และกลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 42.6 มาอยู่ที่ 42.2 สำหรับกลุ่มเกษตรกร ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงที่อยู่ที่ระดับเดิม 45.7 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ความเชื่อมั่นเกษตรกรในภาคเหนือและภาคใต้ปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าน่าจะมาจากราคาสินค้าเกษตรในพื้นที่ปรับตัวดีขึ้น

ข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและอื่นๆ

พฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์

การสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พบว่า การเดินทางไปทำบุญ-ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มีค่าเท่าเดิมร้อยละ 44.98 รองลงมาคือ ลดลงร้อยละ 43.95 และเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 11.07 เท่านั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นปัจจัยลบต่อการเดินทางและการท่องเที่ยว

สำหรับวัตถุประสงค์ 3อันดับแรก ในการทำบุญไหว้พระ/สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในชีวิตร้อยละ 42.42 ขอโชคลาภ/เงินทองร้อยละ 29.64 การงาน-ธุรกิจร้อยละ 10.95 ซึ่งจะเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับกำลังใจ รายได้และการงาน เป็นหลัก สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่มีความแน่นอนในปัจจุบัน

สำหรับผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในการทำบุญแต่ละครั้ง พบว่า ร้อยละ 44.72 มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 100-200 บาท รองลงมา คือ น้อยกว่า 100 บาทร้อยละ 24.57 ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ไม่มีงานทำและนักเรียน/นักศึกษา 201-500 บาทร้อยละ 21.35 ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกินกว่า 500 บาทขึ้นไป ร้อยละ 9.36 เป็นที่น่าสังเกตว่า กว่าร้อยละ 70 ทำบุญครั้งละไม่เกิน200บาท

ค่าใช้จ่ายโดยส่วนใหญ่เป็นการบริจาคตู้ทำบุญ ถึงร้อยละ 47.58 รองลงมา คือ การถวายสังฆทาน ร้อยละ 39.46

นอกจากนี้ ผลการสำรวจกิจกรรมความเชื่อที่ประชาชนส่วนใหญ่นิยมมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ การดูชะตาราศี (เช่น วัน เดือน ปีเกิด)ร้อยละ 54.13 ดูลายมือร้อยละ 20.94 และดูไพ่ยิปซี ร้อยละ 12.23

จากการประมาณการของ สนค. พบว่า การเดินทางไปทำบุญจะสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 10,800 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 0.36 ของมูลค่าการท่องเที่ยวปี 2562โดยรวม ชี้ให้เห็นว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของกิจกรรมเหล่านี้ค่อนข้างมีนัยยะ และมีโอกาสต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศผ่านช่องทางการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยพัฒนาศาสนสถานสำคัญในแต่จังหวัดควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ