ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมีนาคม 2564 และไตรมาสแรกของปี 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 5, 2021 13:05 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนมีนาคม 2564 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 100.5 เทียบกับเดือนมีนาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 2.6 (YoY) เป็นผลจากหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 8.1 จากสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ มันสำปะหลังสด อ้อย ผลปาล์มสด และยางพารา ตามความต้องการที่มีอย่างต่อเนื่อง สุกรมีชีวิต ไข่ และผลิตภัณฑ์จากการประมง เนื่องจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคสินค้าเพิ่มขึ้น และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.5 จากกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก โลหะขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ กระดาษ เคมีภัณฑ์ จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่า ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 11.8 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ การผลิตและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ เป็นปัจจัยหนุนให้สินค้าสำคัญที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลายชนิดมีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออกและนำเข้าสินค้า ส่งผลกระทบให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นด้วย

ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 1.0 4.8 และ 3.3 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ น้ำยางสด/ยางแผ่นดิบ ? ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง มันสำปะหลังสด ? มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง อ้อย ? น้ำตาลทรายดิบ ? น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ เนื่องจากผลผลิตลดลง ปาล์มสด ? น้ำมันปาล์มดิบ- น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ จากมาตรการสนับสนุนการใช้ในประเทศ

1. เทียบกับเดือนมีนาคม 2563 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 2.6 โดย หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 8.1 จากสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ เนื่องจากตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี พืชผัก (มะนาว พริกสด พริกแห้ง พริกชี้ฟ้าสด กระเทียม ผักกาดหัว ขิง) มันสำปะหลังสด อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มไม้ผล ได้แก่ องุ่น ลำไย กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ ฝรั่ง ชมพู่ และส้มเขียวหวาน เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางพารา (น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ การผลิตถุงมือยางและยางล้อ ผลปาล์มสด เนื่องจากราคายังอยู่ในเกณฑ์ดีจากความต้องการใช้ภายในประเทศตามนโยบายส่งเสริมการใช้ดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐาน และมีการใช้เพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด ผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาทูสด ปลาทรายแดง ปลาสีกุน ปลาหมึก กุ้งแวนนาไม หอยนางรม หอยแมลงภู่ และหอยแครง เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยว เช่น คนละครึ่ง เราชนะ เป็นต้น

หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.5 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับอุปทานลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรโรงงาน ปุ๋ยเคมีผสม จากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก ลวดแรงดึงสูง และเหล็กลวด กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป และตะปู/สกรู/น็อต จากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร กุ้งแช่แข็ง น้ำมันปาล์มดิบ/บริสุทธิ์ ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง ปลายข้าว แป้งข้าวเจ้า มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาลทราย และกากน้ำตาล กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และถุงมือยาง เป็นผลจากการปรับสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตร กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ และกระดาษแข็ง จากราคาวัตถุดิบและต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งสูงขึ้น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง ต่ำกว่า 1,800 ซีซี และรถบรรทุกขนาดเล็ก เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่บางชิ้นส่วน กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ตามราคาตลาดโลก กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา และไม้ไฟเบอร์บอร์ด จากความต้องการเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการบางรายปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 11.8 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ ราคาเป็นไปตามภาวะตลาดโลก

2. เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 1.2 โดยหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 4.0 จากสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ เนื่องจากประเทศคู่ค้ายังมีความต้องการข้าวหอมมะลิของไทยอย่างต่อเนื่อง พืชผัก (ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักขึ้นฉ่าย ผักกวางตุ้ง มะนาว ถั่วฝักยาว แตงร้าน) เนื่องจากสภาพอากาศร้อน ผักเจริญเติบโตช้า ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากโรงงานแปรรูปมันเส้นยังคงมีความต้องการวัตถุดิบเข้าโรงงานอย่างต่อเนื่อง อ้อย เนื่องจากโรงงานน้ำตาลทรายมีความต้องการเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตมีปริมาณลดลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางพารา (น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากเป็นช่วงยางผลัดใบ เกษตรกรหยุดกรีดยาง ทำให้ผลผลิตลดลง กลุ่มไม้ผล ได้แก่ สับปะรดโรงงาน เนื่องจากความต้องการของโรงงานแปรรูปยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตมีคุณภาพดีขึ้น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า และมะพร้าวอ่อน เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากความต้องการบริโภคสอดคล้องกับผลผลิต ส่งผลให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ผลิตภัณฑ์จากประมง ได้แก่ กุ้งทะเล ปลาหมึก กุ้งแวนนาไม หอยแมลงภู่ และหอยแครง เนื่องจากผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว ผลปาล์มสด หอมแดง หอมหัวใหญ่ มะม่วง มะละกอสุก และส้มเขียวหวาน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 3.5 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว และกลุ่มแร่ (ดีบุก สังกะสี วุลแฟรม) ราคาเป็นไปตามภาวะตลาดโลก

หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเตา ราคาเป็นไปตามภาวะตลาดโลก ซึ่งมีการปรับลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งในสหรัฐฯ หยุดการผลิต เนื่องจากมีพายุฤดูหนาว ประกอบกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีความคืบหน้าทั่วโลก ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเป็นแรงหนุนต่อความต้องการใช้น้ำมัน กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำตาลทราย น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ วัตถุปรุงรสอาหาร มันเส้น แป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากปริมาณผลผลิตวัตถุดิบลดลง ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น ปลาป่น ปริมาณวัตถุดิบลดลงจากการปิดอ่าว ขณะที่ความต้องการอาหารปศุสัตว์และสัตว์น้ำยังมีอย่างต่อเนื่อง ข้าวโพดหวานกระป๋อง สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด จากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตปรับราคาสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่า สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ผ้าฝ้าย ผ้าดิบ ผ้าใยสังเคราะห์ เนื่องจากเงินบาทที่อ่อนค่า กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา จากการทำสัญญาซื้อขายใหม่ ไม้ไฟเบอร์บอร์ด จากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น ถุงยางอนามัย และถุงพลาสติก กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กฉาก ลวดเหล็ก ลวดแรงดึงสูง กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก ปุ๋ยเคมีผสม จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น

3. ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.6 โดยหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 5.2 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ถั่วเขียว ข้าวเปลือกเจ้า หน่อไม้ฝรั่ง ผักกวางตุ้ง มะนาว พริกสด ถั่วฝักยาว พริกชี้ฟ้าสด กระเทียม ผักกาดหัว ขิง หัวมันสำปะหลังสด อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ องุ่น ลำไย กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ ฝรั่ง ลองกอง ชมพู่ ผลปาล์มสด น้ำยางสด สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาทรายแดง ปลาสีกุน ปลาหมึก กุ้งแวนนาไม หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยแครง และปลาตะเพียน

หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อโค เนื้อสุกร เป็ดสด แช่เย็นแช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง ปลาป่น กะทิ น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ น้ำมันปาล์มดิบ ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง ปลายข้าว แป้งข้าวเจ้า มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง กลูโคสเหลว น้ำตาลทรายดิบ/บริสุทธิ์ และกากน้ำตาล กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ สุรากลั่น กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ และกระดาษแข็ง กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น และถุงมือยาง กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี และเหล็กลวด กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ถังแก๊ส ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป และตะปู/สกรู /น๊อต กลุ่มยานยนต์ ได้แก่ รถยนต์นั่งต่ำกว่า 1800 ซีซี และรถบรรทุกขนาดเล็ก กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ และเครื่องประดับเทียม

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 15.0 จากการลดลงของราคาสินค้า กลุ่มปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ (NG) และก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเ1

4. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ดัชนีราคาผู้ผลิต มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง มีการฉีดวัคซีนที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ประกอบกับหลายรายการสินค้ามีฐานราคาที่ต่ำ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2563 นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เกษตรกรรม อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผักและผลไม้ มันสำปะหลังสด และผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ถุงมือยาง และเหล็ก มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่แปรปรวนอาจส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของสินค้าเกษตร และความผันผวนของค่าเงินบาท ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีราคาผู้ผลิต การส่งออกและความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ