ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 5, 2021 14:28 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2564 เท่ากับ 112.9 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 7.8 (YoY) ซึ่งยังคงสูงขึ้นจากสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นสำคัญ โดยสูงขึ้นร้อยละ 34.6 เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ก็เริ่มมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศหลังจากเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายมากขึ้น ขณะที่หมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติและสอดคล้องกับต้นทุน โดยสินค้าวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่จะมีการปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบเป็นสำคัญ

สำหรับการออกมาตรการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเป็นระยะเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน - 27 กรกฎาคม นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการก่อสร้างในระยะสั้น ประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมการก่อสร้างมีการชะลอตัว ดังนั้นมาตรการดังกล่าวจึงไม่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้ามากนัก

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1. เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2563 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 7.8 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว บานประตู-หน้าต่าง ไม้คาน วงกบประตู-หน้าต่าง จากการปรับราคาเมื่อตอนต้นปี เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.7 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้นจากวัตถุดิบ คือ เหล็ก เป็นสำคัญ ประกอบกับฐานต่ำในปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 34.6 ซึ่งยังคงสูงขึ้นเนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา จากการลดกำลังการผลิตในประเทศจีน ประกอบกับความต้องการการบริโภคที่สูงขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น ซึ่งปรับราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 4.1 สินค้าสำคัญที่สูงขึ้น ได้แก่ สายเคเบิล THW ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC ก๊อกน้ำ และประตูน้ำ เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น จากการปรับราคาสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มโลหะ ได้แก่ เหล็กและทองแดง และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่ม หิน ดิน ทราย อลูมิเนียม และยางมะตอย เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 2.7 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากมีการแข่งขันสูงจากโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนยังคงซบเซาต่อเนื่อง จากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 และหมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการลดลงของซิลิโคน ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดสุขภัณฑ์

2. เทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 (MoM) ลดลงร้อยละ 1.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 5.6 จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป และเหล็กรางน้ำ เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกเริ่มมีแนวโน้มลดลง เข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากกำลังการผลิตในตลาดโลกเริ่มดีขึ้น และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของข้องอ-ข้อต่อท่อประปา ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC และท่อ PVC เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบเริ่มมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ได้แก่ หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ซึ่งยังคงสูงขึ้นจากราคาต้นทุนวัตถุดิบ คือ เหล็ก เป็นสำคัญ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของยางมะตอย เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่สำคัญ คือ น้ำมันดิบ ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการลดลงจากการชะลองานก่อสร้าง เนื่องจากการประกาศปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ประกอบกับการเข้าสู่ฤดูฝน ส่งผลให้ความต้องการใช้เริ่มลดลง ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดสุขภัณฑ์

3. เฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 7.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.8 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว และไม้แบบ เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังคอนกรีตสำเร็จเร็จรูป คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ และถังซีเมนต์สำเร็จรูป เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 31.8 จากการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกรายการสินค้า เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของ กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น และกระเบื้องแกรนิต เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.0 จากการสูงขึ้นของสินค้าที่สำคัญได้แก่ สายเคเบิล THW สายไฟ VCT ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC ข้องอ-ข้อต่อท่อประปา ก๊อกน้ำ และประตูน้ำ เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง ที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของทรายถมที่ ดินถมที่หินคลุก ทรายละเอียด หินใหญ่ อลูมิเนียมแผ่นเรียบ วงกบอลูมิเนียม และยางมะตอย เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 2.0 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากภาวการณ์ก่อสร้างที่ยังคงซบเซาต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบในพื้นที่ก่อสร้าง รัฐบาลต้องสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ทำให้สถานการณ์การก่อสร้างชะลอลงจากเดิม ถึงแม้ช่วงก่อนหน้านี้จะเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็ตาม หมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของสีทาถนน ชนิดสะท้อนแสง และซิลิโคน และหมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.2 จากการลดลงของกระจกเงา ฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป ฝักบัวอาบน้ำ สายฉีดชำระ และราวแขวนผ้าติดผนัง

4. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนสิงหาคม ปี 2564

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนสิงหาคม 2564 ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ราคาปรับสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก ตามความต้องการที่ยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายในหลายประเทศ ขณะเดียวกัน สถานการณ์น้ำท่วมในยุโรปและจีน ยังกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของหลายอุตสาหกรรม อาจส่งผลให้ราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ประกาศสั่งปิดแคมป์คนงานห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน และหยุดการก่อสร้าง จะได้รับการผ่อนปรนให้สามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่ยังรุนแรง น่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ และทำให้ภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้องชะลอตัวในระยะต่อไป ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อราคาวัสดุก่อสร้าง

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ