ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 3, 2021 12:19 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2564 เท่ากับ 116.0 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 10.4 (YoY) ซึ่งสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบเป็นสำคัญ ได้แก่ เหล็ก อลูมิเนียม ถ่านหิน น้ำมัน เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้างของประเทศ

ภาพรวมอุตสาหกรรมการก่อสร้างช่วงปลายปีเริ่มมีแนวโน้มทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งปัจจัยบวกจากการเปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง การยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน การเปิดประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง และคาดว่าปีหน้า อุตสาหกรรมการก่อสร้างจะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง คือ โครงการก่อสร้างภาครัฐที่ค่อนข้างล่าช้า

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1. เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2563 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 10.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.9 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว บานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้พื้น เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนฉาบสำเร็จรูป และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากการสูงขึ้นของต้นทุนเป็นสำคัญ ประกอบกับเริ่มมีความต้องการมากขึ้นจากโครงการก่อสร้างภาครัฐ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 6.0 ซึ่งยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีต คอนกรีตผสม เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้นจากวัตถุดิบ คือ เหล็ก เป็นสำคัญ ประกอบกับฐานต่ำในปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 38.6 จากการสูงขึ้นของผลิตภัณฑ์เหล็กเกือบทุกกลุ่มสินค้า ซึ่งยังคงเป็นผลต่อเนื่องจากการลดกำลังการผลิตเหล็กในประเทศจีน ในขณะที่ความต้องการตลาดโลกสูงขึ้น หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายมากขึ้น ส่งผลให้ราคาเหล็กในประเทศยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก เป็นต้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิตและกระเบื้องลอนคู่ หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.1 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของราวแขวนผ้าติดผนัง ฝักบัวอาบน้ำ กระจกเงา และฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.8 ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น ได้แก่ สายไฟฟ้า VCT ประตูน้ำ สายเคเบิล THW ก๊อกน้ำ ข้องอ-ข้อต่อท่อประปา ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC เป็นต้น เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม มีการปรับตัวสูงขึ้น หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 4.2 จากการสูงขึ้นของ ยางมะตอย อลูมิเนียม และทราย เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

2. เทียบกับเดือนตุลาคม 2564 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 1.9 จากการสูงขึ้นของ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น ประกอบกับเริ่มมีความต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากการสูงขึ้นของ ชีทไพล์คอนกรีต คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ และท่อระบายน้ำคอนกรีต เนื่องจากการสูงขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบ ได้แก่ เหล็ก น้ำมัน ปูน และถ่านหิน หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงมีความผันผวน และส่งผลให้ราคาเหล็กในประเทศมีความผันผวนโดยมีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และผู้บริโภคมีการชะลอการตัดสินใจซื้อเพื่อดูแนวโน้มของราคา โดยสินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ท่อสแตนเลส แผ่นสแตนเลส ชีทไพล์เหล็ก ลวดผูกเหล็ก เหล็กตัว I เหล็กตัว H และเหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย และอลูมิเนียมแผ่นเรียบ เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้น ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดวัสดุฉาบผิว หมวดสุขภัณฑ์ และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา

3. เฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 7.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.8 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ และไม้พื้น เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.4 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตผสม ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และท่อระบายน้ำคอนกรีต เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 34.4 จากการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกรายการสินค้า ผลต่อเนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของ กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น กระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องลอนคู่ เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.5 จากการสูงขึ้นของสินค้าที่สำคัญได้แก่ สายเคเบิล THW สายไฟฟ้า VCT ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC ข้องอ-ข้อต่อท่อประปา ก๊อกน้ำ ประตูน้ำ เป็นต้น ซึ่งยังเป็นผลต่อเนื่องจากราคาวัตถุดิบเป็นสำคัญ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง และอลูมิเนียมที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.8 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่ม หิน ดิน ทราย อลูมิเนียม และยางมะตอย เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.5 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากการก่อสร้างที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของสีทาถนน ชนิดสะท้อนแสง และซิลิโคน ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดสุขภัณฑ์

4. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2564

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2564 ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญจากหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ราคายังอยู่ในระดับสูง จากความต้องการใช้เหล็กที่ยังคงมีอยู่ทั่วโลก เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก นอกจากนี้ ตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้างของไทยยังได้รับแรงหนุนจากความต้องการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงก่อนหน้า โครงการก่อสร้างของภาครัฐ และมาตรการ LTV ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (Omicron) ที่สร้างความกังวลไปทั่วโลก อาจส่งผลให้ภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร และเป็นแรงกดดันต่อดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในระยะต่อไป ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ