ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมกราคม 2565

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 1, 2022 10:13 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

Highlights อัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2565 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 3.23 (YoY)เป็นการขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น (ธันวาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 2.17)โดยมีสาเหตุสำคัญจากฐานที่ต่ำของปีที่ผ่านมา ประกอบกับการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน จากการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานโลก เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่กำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมันยังไม่เพียงพอกับความต้องการรวมทั้งราคาสินค้ากลุ่มอาหารปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเนื้อสุกร น้ำมันพืช อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน จากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าสำคัญบางกลุ่มปรับตัวลดลง อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผักสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก สำหรับราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ ยังคงเคลื่อนไหวตามกลไกทางการตลาดของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.52 จากตัวเลขเงินเฟ้อและเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของไทยยังอยู่ในภาวะปกติ แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก และคาดว่าในระยะต่อไปจะกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย 1. เทียบกับเดือนมกราคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 3.23(YoY)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้*หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 3.81 โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ 9.44 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 27.89 และค่าโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 0.67 หมวดเคหสถานร้อยละ 0.74 จากการสูงขึ้นของราคาค่ากระแสไฟฟ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม และน้ำยาล้างจาน หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคลร้อยละ 0.27 จากการสูงขึ้นของราคาแชมพู ครีมนวดผม และค่าแต่งผมชาย และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 1.72 จากการสูงขึ้นของราคาบุหรี่และสุรา ในขณะที่มีสินค้าและบริการราคาลดลง ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้าร้อยละ -0.22 จากการลดลงของราคากางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยืดสตรีและบุรุษ หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯร้อยละ -0.85 จากการลดลงของค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาในทุกระดับชั้น และการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.08 *หมวดอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.39 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของสินค้าเกือบทุกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ 10.35 จากการสูงขึ้นของราคาเนื้อสุกร ไก่สด และกุ้งขาว กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 2.71 จากการสูงขึ้นของราคาไข่ไก่ ไข่เป็ด และนมสด กลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ 6.31 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันพืช ซีอิ๊ว และกะปิ กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.11 จากการสูงขึ้นของราคากาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม และน้ำผลไม้กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ 1.40 จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง และก๋วยเตี๋ยว และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านร้อยละ 1.02 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง)ในขณะที่มีสินค้าราคาลดลง ได้แก่กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ -6.63 จากการลดลงของราคาข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว กลุ่มผักสดร้อยละ -0.67จากการลดลงของราคาพริกสด ต้นหอม และมะนาว กลุ่มผลไม้สดร้อยละ -2.83 จากการลดลงของราคาฝรั่ง กล้วยหอม และกล้วยน้ำว้า

2. เทียบกับเดือนธันวาคม 2564สูงขึ้นร้อยละ 1.13(MoM)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.21 ตามการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร ไก่สด และกุ้งขาว) ร้อยละ 9.39 กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมสด และนมผง) ร้อยละ 1.65 กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร(น้ำมันพืช ซีอิ๊ว และกะปิ) ร้อยละ 0.72 กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำอัดลม กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ร้อยละ 0.16 กลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน(กับข้าวสำเร็จรูปข้าวแกง/ข้าวกล่อง และก๋วยเตี๋ยว) ร้อยละ 0.96 และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้าน(อาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง))ร้อยละ 0.77ในขณะที่มีสินค้าราคาลดลง ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง(ข้าวสารเจ้า ขนมปังปอนด์ และอาหารธัญพืช) ร้อยละ -0.44 กลุ่มผักสด(มะเขือ ผักกาดขาว และกะหล่ำปลี)ร้อยละ -17.35 และกลุ่มผลไม้สด(ส้มเขียวหวาน สับปะรด และแอ๊ปเปิ้ล) ร้อยละ -0.95 หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหาร และเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.08 ตามการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร(น้ำมันเชื้อเพลิง) ร้อยละ 5.20 หมวดเคหสถาน(ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม และผงซักฟอก) ร้อยละ 0.75 หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคล(ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว และโฟมล้างหน้า) ร้อยละ 0.07 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ(เครื่องถวายพระ ค่าซื้อสินค้า/ของที่ระลึก) ร้อยละ 0.05และหมวดยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์(บุหรี่)ร้อยละ 0.36 ในขณะที่มีสินค้าและบริการราคาลดลง ได้แก่ ค่าโดยสารสาธารณะ ร้อยละ -0.02 สำหรับหมวดเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้าและการสื่อสาร ราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

3. การเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ (YoY) จำแนกรายภาค เดือนมกราคม 2565

รวมอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มภาค

การเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)การเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)การเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)1. กรุงเทพฯ และปริมณฑล 2.70 2.34 2.93 2. ภาคกลาง 3.52 2.76 4.00 3.ภาคเหนือ3.80 3.17 4.28 4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2.89 1.44 4.03 5. ภาคใต้3.63 2.37 4.53 ดัชนีราคาผู้บริโภคจำแนกรายภาค พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในทุกภาคขยายตัวต่อเนื่องในอัตราเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งในเดือนนี้ภาคเหนือขยายตัวในอัตราสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ที่ร้อยละ 3.80 ในขณะที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขยายตัวต่ำที่สุด ที่ร้อยละ 2.70 สำหรับภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายตัวร้อยละ 3.63 3.52และ 2.89 ตามลำดับ

การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคของภาคเหนือสูงกว่าทุกภูมิภาค เนื่องจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่แอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าภาคอื่น ๆโดยมีสาเหตุหลัก 3 ประการ 1)ราคาเนื้อสุกรซึ่งปรับสูงขึ้นมากในเดือนนี้ ภาคเหนือมีสัดส่วนการบริโภคมากกว่าทุกภาค 2) สินค้ากลุ่มอาหารบริโภค-ในบ้านภาคเหนือมีอัตราการเปลี่ยนแปลงสูงที่สุด 3)ราคาโดยเฉลี่ยของสินค้ากลุ่มผักสดในภาคเหนือเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าภูมิภาคอื่น (กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียง ราคาโดยเฉลี่ยลดลง)

เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า สินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นในทุกภาค ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่ากระแสไฟฟ้า จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)น้ำมันพืช ซึ่งราคาสูงขึ้นต่อเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบผลปาล์มสดที่ราคาเพิ่มขึ้นรวมทั้งการสูงขึ้นของราคาเนื้อสุกร เป็นสำคัญ สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงในทุกภาค ได้แก่ ข้าวสารเจ้า และผักสด (พริกสด ผักบุ้ง ต้นหอม และผักชี) เป็นต้น

4.ภาพรวมเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่ไม่มากนักสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ทั้งในและต่างประเทศ ด้านอุปสงค์โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาในตลาดโลก ประกอบกับราคาฐานของเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมายังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ เงินเฟ้อของไทยยังได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการส่งออกสินค้า การผลิต และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ที่จะเริ่มใช้สิทธิในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะส่งผลดีต่อรายได้และกำลังซื้อของประชาชนได้อย่างมีนัยสำคัญ สำหรับอุปทานที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าจ้างแรงงานส่งผลต่อภาคการผลิตและราคาสินค้าขายปลีกสินค้าและบริการในลำดับต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวน รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 และมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน อาจจะกดดันให้เงินเฟ้อของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2565 จะมีค่ากลางที่ร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นอัตราที่คาดว่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสม

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ