ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 12/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 26, 2010 15:36 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 12/2553 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจเสนอ ทั้งนี้ ในส่วนของการจดทะเบียนกิจการเพื่อสังคม มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 12/2553 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. มาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยของกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงานได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับโครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน วงเงินรวม 406,759,600 บาท โดยมีสาระสำคัญ และมติคณะกรรมการ รศก. ดังนี้

1.1 สาระสำคัญ

1.1.1 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานได้รับจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามโครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ จำนวน 139,838,800 บาท โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อน 31,080 คน ซึ่งงบประมาณดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยได้อย่างทั่วถึง ดังนั้น เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัยตามหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน จึงจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการฯ เพิ่มเติม โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นจำนวน 107,620 คน ทำให้มีกลุ่มเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 138,700 คน หรือร้อยละ 5 ของประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนจำนวน 2,774,167 คน ตามข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อวันที่ 26 ตะลาคม 2553 และประมาณการค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเป็นจำนวนเงิน 406,759,600 บาท

การดำเนินการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้มีงานทำชั่วคราวด้วยการจ้างงานให้ทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ เพื่อให้แรงงานมีรายได้ในการดำรงชีพของตนเองและครอบครัวเป็นการชั่วคราว และส่งเสริมให้ผู้ประสบอุทกภัยมีทักษะในการประกอบอาชีพ สร้างโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพใหม่หรือพัฒนาอาชีพเดิม โดยงบประมาณที่ขอเพิ่มเติม จำนวนเงิน 406,759,600 บาท ประกอบด้วย (1) การจ้างงานสำหรับการทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ (ค่าจ้างในการทำงาน) มีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 100,820 คน งบประมาณทั้งสิ้น 302,460,000 บาท (2) การพัฒนาทักษะฝีมือ (จ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ) มีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 6,800 คน งบประมาณทั้งสิ้น 88,655,000 บาท และ (3) งบบริหารจัดการโครงการ จำนวนเงิน 15,644,600 บาท

1.2 มติที่ประชุม

ให้กระทรวงแรงงานไปปรับแผนการดำเนินงาน โดยใช้งบประมาณปกติที่กระทรวงได้รับในปี 2554 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพของผู้ประสบอุทกภัย และให้เร่งสำรวจแรงงานผู้ถูกเลิกจ้างซึ่งมีสาเหตุจากเหตุการณ์อุทกภัย เพื่อให้สามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ ในการฟื้นฟูแรงงานหลังภาวะน้ำท่วมนั้นให้พิจารณาส่งเสริมการใช้แรงงานท้องถิ่นเป็นลำดับแรก รวมทั้งประสานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อสอบถามถึงความต้องการแรงงานของภาคเอกชนด้วย

2. การส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมของสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ สืบเนื่องจาก มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 เห็นชอบแผนแม่บทสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2553-2557 หลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ... และแนวทางการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ และมติคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2553 เห็นชอบกรอบแนวคิดภายใต้นโยบายสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม ใน 2 มาตรการหลัก คือ (1) การพัฒนารูปแบบและขีดความสามารถของกิจการเพื่อสังคม และ (2) การพัฒนาช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพยากร โดยได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การจดทะเบียนกิจการเพื่อสังคม มาตรการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม และแนวทางเพื่อเร่งรัดให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ รศก. พิจารณา โดยมีสาระสำคัญ ความเห็นและประเด็นอภิปราย และมติคณะกรรมการ รศก. ดังนี้

2.1 สาระสำคัญ

2.1.1 หลักเกณฑ์การจดทะเบียนกิจการเพื่อสังคม

(1) การกำหนดนิยามกิจการเพื่อสังคม กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) คือ กิจการที่ภาคเอกชนหรือภาคประชาชนเป็นเจ้าของ มีรายรับจากการขาย การผลิตสินค้า และ/หรือการให้บริการ ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายอย่างชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่ม หรือปรับเปลี่ยนเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม และ/หรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยมิได้มีเป้าหมายที่จะสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าของ และมีลักษณะพิเศษ คือ กระบวนการผลิต การดำเนินกิจการ รวมถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการ ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อเนื่องในระยะยาวต่อสังคม สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อม มีศักยภาพที่จะมีความยั่งยืนทางการเงินได้ด้วยตนเอง ผลกำไรส่วนใหญ่ถูกนำไปเพื่อการลงทุนกลับไปใช้ในการขยายผลเพื่อการบรรลุเป้าหมาย หรือคืนผลประโยชน์ให้แก่สังคม และมีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

(2) การจดทะเบียนกิจการเพื่อสังคม มีองค์ประกอบเบื้องต้น ดังนี้ (1) เป้าหมายของการตั้งกิจการเพื่อสังคม เป็นกลไกขับเคลื่อนให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาและเสริมบทบาทภาครัฐในการแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และ(2) นโยบายการดำเนินกิจการ การจ่ายเงินปันผลคืนแก่ผู้ถือหุ้นต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิในแต่ละปี เพื่อสร้างหลักประกันว่ากิจการจะไม่มุ่งเน้นการทำกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น การจัดการสินทรัพย์เมื่อเลิกกิจการ หลังจากชดเชยในส่วนของหนี้สินแล้ว สินทรัพย์ส่วนเกินจากทุน (กำไรสะสม) จะถูกนำไปจัดสรรตามความประสงค์ของเจ้าของกิจการ โดยจำกัดให้กระจายสินทรัพย์เหล่านั้นแก่บัญชีกองทุนสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม

2.1.2 มาตรการและกลไกการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม

(1) มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจการเพื่อสังคม โดยกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมในการส่งเสริมให้บุคคลหรือนิติบุคคลลงทุนในกิจการเพื่อสังคม โดยกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุน และเงื่อนไขของการให้การสนับสนุนการลงทุน

(2) มาตรการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม/ผู้ประกอบการเพื่อสังคม ได้แก่ การให้สิทธิประโยชน์เป็นพิเศษและเพิ่มเติมสำหรับกิจการเพื่อสังคมตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) กำหนด การส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันการเงินชุมชนเพื่อการพัฒนา (Community Development Financial Institution: CDFI) โดยกระทรวงการคลัง การแก้ไขระเบียบให้สหกรณ์สามารถรวมตัวตั้งชุมนุมสหกรณ์ข้ามกลุ่มได้ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การพัฒนาศูนย์บ่มเพาะกิจการเพื่อสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม การปล่อยสินเชื่อพิเศษเพื่อกิจการเพื่อสังคม โดยธนาคารแห่งประเทศไทย และการปรับปรุงศูนย์ข้อมูลการค้าและจดทะเบียนพาณิชย์ โดยกระทรวงพาณิชย์

(3) แนวทางการดำเนินงาน เพื่อเร่งรัดให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม โดยมีสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน และติดตามผลการให้สิทธิประโยชน์กับกิจการเพื่อสังคม โดยให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำรายละเอียดให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจมีมติเห็นชอบ เพื่อให้มีการประกาศใช้ต่อไป

2.2 มติที่ประชุม

2.2.1 เห็นชอบหลักเกณฑ์การจดทะเบียนกิจการเพื่อสังคม โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ

2.2.2 มอบหมายให้ สกส. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมต่อไป

3. มาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกจากวิกฤตการแข็งค่าของเงินบาทของกระทรวงพาณิชย์

3.1 สาระสำคัญ

3.1.1 กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานว่ากรมส่งเสริมการส่งออกได้จัดประชุมและสัมมนาเพื่อรับฟังปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ส่งออกจากวิกฤตการแข็งค่าของเงินบาท แล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง ซึ่งครั้งต่อไปจะจัดในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งผลจากการประชุมดังกล่าวสามารถสรุปมาตรการสำคัญที่ภาคเอกชนเสนอเพื่อแก้ไขผลกระทบจากวิกฤตการแข็งค่าของเงินบาทได้ ดังนี้

(1) การแทรกแซงค่าเงินไม่ให้ผันผวนและสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค เนื่องจากผู้ส่งออกไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ในระยะเวลาสั้นๆ และสินค้าบางกลุ่มต้องสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดเพราะเป็นสินค้าที่ต้องแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคที่มีค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่าไทย ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรใช้ อัตราซื้อสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ เป็นอัตราอ้างอิงในการคำนวณการแข็งค่าที่แท้จริงของเงินบาท

(2) ควบคุมการไหลของเงินทุนต่างประเทศ (Capital Control) ธนาคารแห่งประเทศไทยควรกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันไม่ให้เงินนอกทะลักเข้ามาทำกำไรระยะสั้น ทั้งนี้ จะต้องไม่กระทบการนำเงินเข้าเพื่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)

(3) อนุญาตให้ชำระค่าระวางเรือเป็นสกุลเงินต่างประเทศ ในกรณีที่ใช้ราคาเป็น CIF (Cost, Insurance and Freight) ผู้ส่งออกสามารถชำระค่าระวางเรือเป็นสกุลเงินต่างประเทศได้โดยไม่ต้องแลกเป็นเงินบาท

(4) ลดค่าธรรมเนียมศุลกากรในการส่งออก ดำเนินการในระยะสั้น 3 — 6 เดือน เพื่อทดแทนกับส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น

(5) ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1.75 ของธนาคารแห่งประเทศไทยสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ทำให้มีเงินนอกไหลเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อทำกำไรในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดตราสารอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก

(6) ขอให้หน่วยงานภาครัฐรับฟังและติดตามการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ส่งออกของไทยอย่างใกล้ชิดภาคเอกชนเห็นว่า มาตรการการแทรกแซงค่าเงินไม่ให้ผันผวนและสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาคการควบคุมการไหลของเงินทุนต่างประเทศ (Capital Control) การชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และการรับฟังและติดตามการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการแล้ว สำหรับการอนุญาตให้ชำระค่าระวางเรือเป็นสกุลเงินต่างประเทศ และการลดค่าธรรมเนียมศุลกากรในการส่งออกยังไม่ได้การดำเนินการจากภาครัฐที่ชัดเจน

3.2 มติที่ประชุม

รับทราบข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกจากวิกฤตการแข็งค่าของเงินบาทของกระทรวงพาณิชย์ และให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแข็งค่าของเงินบาทเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมตรงกับกลุ่มเป้าหมายและลักษณะของผลกระทบต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ