การขอตั้งงบประมาณเพื่อจัดตั้งหน่วยระวังภัยทางเศรษฐกิจของอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 17:17 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 4,490,000 บาท เพื่อนำไปชำระเงินสำหรับการจัดตั้งหน่วยระวังภัยทางเศรษฐกิจของอาเซียน (Macroeconomic and Finance Surveillance Office : MFSO) ได้ โดยเบิกจ่ายในลักษณะงบรายจ่ายอื่น ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานว่า

1. ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting : AFMM) ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2552 ณ ประเทศไทย ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการสำหรับการเสริมสร้างประสิทธิภาพให้กับการปฏิบัติงานของ MFSO ขึ้น ซึ่งจะเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักเลขาธิการอาเซียน และได้มอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียนจัดทำข้อเสนอโครงสร้างและกลไกการดำเนินงานของ MFSO เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

2. ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN Finance Ministers’ Meeting : informal AFMM) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2553 ณ เมืองทาชเคนท์ ประเทศอุซเบกิสถาน ที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบต่อ Terms of Reference (TOR) สำหรับการจัดตั้ง MFSO ฉบับปรับปรุงใหม่ ตามที่สำนักเลขาธิการอาเซียนได้นำเสนอ ทั้งนี้ TOR ฉบับปรับปรุงใหม่ได้มุ่งเน้นบทบาทที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นของ MFSO ในการเป็นหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ ติดตาม และประสานการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือทางการเงินต่าง ๆ ของอาเซียน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ภายในปี 2558 อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของ MFSO จะต้องไม่เป็นการซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของสำนักวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office : AMRO) ซึ่งเป็นหน่วยระวังภัยทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบวงเงินงบประมาณสำหรับการจัดตั้ง MFSO ทั้งสิ้นจำนวน 1,443,519 ดอลลาร์สหรัฐ โดยแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนจะลงเงินในสัดส่วนที่เท่ากัน คิดเป็นการลงเงินประเทศละ 144,352 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2554

3. สำนักเลขาธิการอาเซียนได้มีหนังสือถึงกระทรวงการคลังไทย ขอให้พิจารณาดำเนินการชำระเงินในส่วนของประเทศไทย ซึ่งสามารถแบ่งการชำระเงินออกเป็น 2 งวด ดังนี้

งวดที่ 1 เป็นการชำระเงินจำนวน 64,989 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,147,886.45 บาท โดยให้ชำระภายในปี 2553

งวดที่ 2 เป็นการชำระเงินจำนวน 79,363 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,622,947.15 บาท โดยให้ชำระภายในเดือนพฤษภาคม 2554

ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงจากอัตราของธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำวันที่ 16 กันยายน 2553 เท่ากับ 31.05 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และคำนวณรวมค่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตเพิ่มอีก 2 บาท เป็นอัตรา 33.05 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ดังนั้น การตั้งวงเงินงบประมาณสำหรับการชำระเงินในส่วนประเทศไทยรวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 144,352 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,770,833.60 บาท

4. การขอตั้งงบประมาณเพื่อใช้ชำระเงินสำหรับการจัดตั้ง MFSO ในส่วนของประเทศไทย จำนวนรวมทั้งสิ้น 144,352 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,770,833.60 บาท นั้น จะสามารถใช้เงินงบประมาณในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นได้ โดยการชำระเงินจะเป็นไปตามรายละเอียดในข้อ 3. ข้างต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ