สรุปสถานการณ์นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ปี 2548-2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2011 15:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลรายงานสรุปสถานการณ์นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ปี 2548-2553 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดังนี้

นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.51% จากสถิตินักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เดินทางมาประเทศไทยระหว่างปี 2548 - 2553 พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 11,516,936 คน ในปี 2548 เป็น 15,841,683 คน ในปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.51% ซึ่งเป็นผลจากเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวโลก และความเข้มแข็งของปัจจัยพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวของไทย เช่น การเปิดให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิ การมีสินค้าทางการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เช่น แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม นันทนาการ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (บริการทางการแพทย์/สปา) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมระดับ World Event ที่สนับสนุนด้านการท่องเที่ยว เช่น มหกรรมพืชสวนโลก งานเทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับรางวัลด้านการท่องเที่ยวระดับโลกหลายรายการเป็นประจำ เช่น รางวัล Best Tourist Country, Best Country Brand for Value for Money เป็นต้น

จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศของไทยเปลี่ยนแปลงตามทิศทางของจำนวนนักท่องเที่ยวโลก จากข้อมูลอัตราการเปลี่ยนแปลงของจำนวนนักท่องเที่ยวโลกในระหว่างปี 2548 — 2553 พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2548 - 2551 โดยมีอัตราการขยายตัวสูงสุดเท่ากับร้อยละ 6.38 ในปี 2550 ทั้งนี้ในปี 2551 นักท่องเที่ยวโลกเริ่มชะลอตัวและมีจำนวนลดลงในปี 2552 จากวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรป (Hamburger Crisis) แต่กลับมาขยายตัวอีกครั้งในปี 2553 สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศของไทยพบว่า โดยภาพรวมมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวโลก แต่ในบางปีมีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่รุนแรงกว่า เช่น ในปี 2552 ขณะที่นักท่องเที่ยวโลกลดลงเพียง 2.98% แต่นักท่องเที่ยวของไทยลดลง 4.24% จากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

ภาคการท่องเที่ยวมีปัญหารุมเร้า แต่ภาวะเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวมาโดยตลอดโดยเฉพาะภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่รัฐบาลกำหนดให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของภาคการขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจ และได้ประกาศให้ปี 2541-2542 เป็นปีส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand) ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้แม้ว่าแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางภาคใต้ (ภูเก็ต พังงา กระบี่) จะได้รับผลกระทบจากภัยธรณีพิบัติ (สึนามิ) ในปี 2547 และเกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง

ในประเทศไทยในปี 2552 และ 2553 แต่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่มาก และสามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลาสั้น อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบันที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยกำลังเผชิญกับปัจจัยลบด้านการท่องเที่ยวหลายด้าน เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่าเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการเมืองภายในประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอน

รายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 11.90 และมีรายได้สูงสุด 5.85 แสนล้านบาทในปี 2553 จากสถิติรายได้จากการท่องเที่ยวระหว่างปี 2548-2553 พบว่า ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 367,380.36 ล้านบาท ในปี 2548 เป็น 585,961.80 ล้านบาท ในปี 2553 ซึ่งเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวที่สูงที่สุดของไทย หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 11.90% สำหรับภูมิภาคที่ก่อให้เกิดรายได้สูงสุด คือ ยุโรป (227,679.09 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 38.86 รองลงมาได้แก่ เอเชียตะวันออก อาเซียน อเมริกา โอเชียเนีย เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ตามลำดับ ดังนั้นแม้ว่านักท่องเที่ยวยุโรปจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับที่ 2 และก่อให้เกิดรายได้สูงที่สุด ขณะที่เอเชียตะวันออกมีจำนวนน้อยกว่านักท่องเที่ยวอาเซียนแต่ก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่า นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวเอเชียใต้มีอัตราการขยายตัวสูงสุด (+33.96%) รองลงมาได้แก่ เอเชียตะวันออก แอฟริกา ตะวันออกกลาง โอเชียเนีย อาเซียน ยุโรป และอเมริกา ตามลำดับ

ปี 2553 นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1.69 ล้านคน โดยเฉพาะเอเชียใต้ขยายตัวสูงสุดเกือบ 25% ในปี 2553 มีนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวน 15,841,683 คน เพิ่มขึ้น 1,691,842 คน จากปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นร้อยละ 11.96 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวในทุกภูมิภาค โดยภูมิภาคที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ เอเชียใต้ เพิ่มขึ้น 24.98% รองลงมาได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออก แอฟริกา อาเซียน โอเชียเนีย ยุโรป และอเมริกา ตามลำดับ สำหรับอัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ค่อนข้างสูงส่วนหนึ่งเป็นผล

สืบเนื่องมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมาที่ลดลง และการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวโลก สำหรับนักท่องเที่ยวอเมริกาเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาสถานบันการเงินในปีที่ผ่านมา จึงทำให้มีอัตราการขยายตัวต่ำสุด

นักท่องเที่ยวโดยรวมขยายตัวสูง ยกเว้นในช่วงเมษายน — มิถุนายน ที่ชะลอตัวจากสถานการณ์ภายในประเทศ แต่สามารถฟื้นตัวได้ในเวลาสั้นจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน เมื่อพิจารณาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยว ปี 2553 เป็นรายเดือนพบว่า โดยภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกที่ขยายตัวในอัตราสูง (+27.83%) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นจากการลดลงของนักท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่เริ่มต้นในเดือนมีนาคม และก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงที่สำคัญอย่างน้อย 2 ครั้งในเดือนเมษายน และพฤษภาคม ที่มีผลทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ตลอดจนเกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในกรุงเทพฯ หลายแห่ง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดือนพฤษภาคม มีเพียง 826,610 คน หรือลดลงร้อยละ 10.53 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวเดือนพฤษภาคมที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี

สถานการณ์นักท่องเที่ยวกรกฏาคม — ธันวาคม ฟื้นคืนสู่ภาวะปกติและขยายตัวในระดับสูง (+9.27%) โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในระหว่างเดือนกันยายน — ธันวาคม ที่มีจำนวนสูงสุดในรอบ 5 ปี ทั้งนี้แม้ว่าในเดือนธันวาคม นักท่องเที่ยวจะชะลอตัวเล็กน้อยโดยขยายตัวเพียง 6.95% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดลงของนักท่องเที่ยวยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวมกราคม — มิถุนายน ในระหว่างปี 2551 - 2553 พบว่า นักท่องเที่ยวปี 2553 ขยายตัวจากปี 2552 ซึ่งเกิดเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน (+14.38%) แต่ลดลงจากปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่เหตุการณ์ปกติ (-4.02%) แต่เนื่องจากปี 2553 จำนวนนักท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวได้เพียง 1 เดือน หลังเหตุการณ์ ขณะที่ปี 2552 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องอีก 4 เดือน จึงกล่าวได้ว่า สถานการณ์การเมืองในประเทศในปี 2553 ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงกว่าในปี 2552 แต่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวโดยรวมน้อยกว่า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากบทบาทของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในเหตุการณ์เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น ตลอดจนการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงแรกของการชุมนุม

นักท่องเที่ยวตลาดหลัก มีจำนวน 11,574,347 คน โดยตลาดที่มีความสำคัญมากที่สุด คือ มาเลเซีย จีน และญี่ปุ่น เมื่อพิจารณาตลาดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุด 15 อันดับแรก พบว่า มีจำนวนรวมกันเท่ากับ 11,57,4347คน คิดเป็นร้อยละ 73.06 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด สำหรับตลาดหลักที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุด คือ มาเลเซีย จำนวน 1,962,629 คน รองลงมาได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย ลาว สหรัฐอเมริกา เยอรมนี รัสเซีย สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เวียดนาม และไต้หวัน ตามลำดับ

นักท่องเที่ยวตลาดหลักมีความสำคัญเพิ่มขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 13.81 โดยเฉพาะรัสเซียขยายตัวสูงถึงร้อยละ 81.33 เมื่อเปรียบเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวตลาดหลักในปี 2553 กับปีที่ผ่านมา พบว่า โดยภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวตลาดหลักปี 2553 มีจำนวนเพิ่มขึ้น 1,404,650 คน หรือขยายตัวร้อยละ 13.81 ซึ่งมีผลทำให้นักท่องเที่ยวตลาดหลักมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71.87 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 73.06 ในปี 2553 สำหรับตลาดหลักที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย รัสเซีย (+81.33%) จีน (+45.05%) และเกาหลี (+31.99%) ตามลำดับ

ปี 2554 จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 16.5-16.6 ล้านคน แม้ว่าในปี 2553 ประเทศไทยจะประสบกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบด้านลบต่อภาคการท่องเที่ยว เช่น สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ การระเบิดของภูเขาไฟในไอร์แลนด์ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และยุโรป แต่จากอัตราการขยายตัวในระดับสูงของนักท่องเที่ยวใน ปี 2553 สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อของไทยเร่งตัวขึ้นสูงกว่าระดับปกติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2553) นักท่องเที่ยวยังคงขยายตัว สำหรับแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2554 พบว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงประสบกับปัจจัยลบ เช่น ภาวการณ์ชะลอตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ในต่างประเทศที่มีความถี่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันในตลาดโลก การเก็บภาษีการโดยสารทางอากาศ (Air Passenger Duty) ในยุโรป สถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทย และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา

สำหรับปัจจัยบวกด้านการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวเอเชียจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ เช่น จีน อินเดีย เกาหลี ตะวันออกกลาง และยุโรปบางประเทศ เช่น รัสเซีย สแกนดิเนเวีย ยุโรปตะวันออก เป็นต้น ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อที่คาดว่าจะไม่เร่งตัวสูงเหมือนในปี 2552 (รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ, ตุลาคม 2553) และราคาสินค้า/บริการด้านการท่องเที่ยวของไทยที่ยังคงมีความคุ้มค่ากับการใช้จ่าย (Value of Money) สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ UNWTO ยังคาดการณ์ว่าในปี 2554 จำนวนนักท่องเที่ยวโลกจะขยายตัวประมาณ 4% ถึง 5% โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะขยายตัวประมาณ 7% ถึง 9% (UNWTO, January 2011) ดังนั้นผลจากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวคาดว่าในปี 2554 จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศของไทยจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่ชะลอตัวจากปี 2553 โดยคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4.4% ถึง 5.0% หรือมีนักท่องเที่ยวประมาณ 16.5 — 16.6 ล้านคน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ