ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2553 ทั้งปี 2553 และแนวโน้มปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 23, 2011 13:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2553 ทั้งปี 2553 และแนวโน้มปี 2554 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2553

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2553 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ชะลอจากร้อยละ 6.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากภาคเกษตรกรรมหดตัวร้อยละ 3.3 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ส่งผลให้ผลผลิตภาคเกษตรสำคัญ ๆ เช่น มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวเปลือกลดลง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 4.8 ชะลอตัวจากร้อยละ 11.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา จากการลดลงของการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงสนับสนุนการขยายตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ทั้งการส่งออก การลงทุน และการบริโภคของภาคเอกชน รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวสูง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสสามของปี 2553 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ขยายตัวร้อยละ 1.2 (%QoQ SA) รวมทั้งปี 2553 เศรษฐกิจไทยขยายตัว ร้อยละ 7.8

1.1 ภาคการส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสนี้สูงถึง 51,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขยายตัวร้อยละ 21.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การส่งออกสินค้าหลักๆ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ยานพาหนะและชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 77.5 23.8 17.3 49.0 และ 27.6 ตามลำดับ ตลาดส่งออกหลักทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นยังคงขยายตัว ยกเว้น ตลาดออสเตรเลียที่ลดลง จากการส่งออกเหล็กสำหรับงานก่อสร้าง รถยนต์ และ เครื่องปรับอากาศที่ลดลง รวมทั้งปี 2553 การส่งออกมีมูลค่า 193,663 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 28.5

1.2 ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยในไตรมาสสี่มีจำนวน 4.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สองและสามที่มีจำนวน 2.9 และ 3.7 ล้านคน ตามลำดับ โดยนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ จีน และอินเดีย ขยายตัวร้อยละ 41.1 26.6 และ 46.2 ตามลำดับ อัตราการเข้าพักอยู่ที่ระดับร้อยละ 54.1 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 38.9 และ 46.7 ในไตรมาสที่สองและสามตามลำดับ ส่งผลให้ GDP ในสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 7.9 รวมทั้งปี 2553 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 15.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่มีจำนวน 14.1 ล้านคน

1.3 การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 9.2 เป็นการขยายตัวทั้งการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและสิ่งก่อสร้าง ซึ่งสะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ขยายตัวร้อยละ 15.3 และ 31.6 ตามลำดับ และการขยายตัวของการก่อสร้างอาคารโรงงานเป็นหลัก ประกอบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในภาวะตึงตัวในหลายอุตสาหกรรม (อัตราการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 80) ได้แก่ การผลิตเม็ดพลาสติก (ร้อยละ 98.5) การผลิตยาง (ร้อยละ 89.2) การผลิตรถยนต์ (ร้อยละ 84.7) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ (Business Sentiment Index: BSI) เฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 51.4 ปรับตัวดีขึ้นจาก 50.4 ในไตรมาสที่ผ่านมา รวมทั้งปี 2553 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 13.8

1.4 การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 3.8โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร จากราคาพืชผลหลักที่เพิ่มขึ้น เช่น ราคายางพารา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.0) มันสำปะหลัง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 71.9) ปาล์มน้ำมัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.0) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7) ประกอบกับภาวการณ์จ้างงานอยู่ในเกณฑ์ดีมีจำนวนผู้ว่างงาน 337,400 คน อัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 รวมทั้งปี 2553 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.8

2. ภาวะเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2553

ทั้งปี 2553 ภาวะเศรษฐกิจไทย ขยายตัวร้อยละ 7.8 เป็นผลมาจากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวร้อยละ 13.8 4.8 และ 14.7 ตามลำดับ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสูงถึงร้อยละ 13.9 รวมทั้งกิจกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว เช่น สาขาโรงแรม ภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 8.4 อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงต้นปี และปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี ทำให้ภาคเกษตรกรรมในปี 2553 หดตัวร้อยละ 2.2

3. แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจปี 2554

สำนักงานฯ คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.5 โดยคงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเดียวกันกับที่แถลงข่าวเมื่อครั้งที่ผ่านมา (22 พฤศจิกายน 2553) โดยมีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

3.1 ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2554

1) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออก การผลิต และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ โครงสร้างตลาดส่งออกที่มีการกระจายตัวมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบต่อจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ

2) รายได้ของผู้บริโภคมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและภาคเอกชน รวมทั้งรายได้ของเกษตรกรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรหลักๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งราคายางพารา มันสำปะหลัง และอ้อย รวมทั้งการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ประกอบกับอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำที่ระดับร้อยละ 0.9

3) สถาบันการเงินมีเสถียรภาพ สภาพคล่องในระบบยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่เอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ

4) ภาคบริการขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2554 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยประมาณ 16.8 — 17.0 ล้านคน ซึ่งส่งผลให้ภาคการผลิตและบริการที่เกี่ยวเนื่องมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น

3.2 ปัจจัยเสี่ยงที่ควรระมัดระวังในปี 2554

1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะการฟื้นตัวของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนี้ (1) สหภาพยุโรป หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง และการดำเนินนโยบายการคลังไม่เอื้อต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (2) ญี่ปุ่น ภาคการบริโภคยังขยายตัวเพียงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราการว่างงานที่สูง รวมทั้งหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับสูง และ (3) จีน การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยการลดเป้าหมายปริมาณสินเชื่อและเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและราคาอสังหาริมทรัพย์ อาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของจีน

2) การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

3) สถานการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งของกลุ่มคนในสังคม ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักลงทุน

4) สถานการณ์การผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร ยังมีความไม่แน่นอนจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน

5) ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน จากการดำเนินนโยบายการเงินที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งมีทิศทางตรงกันข้ามกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

6) การขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม จะทำให้สูญเสียโอกาสในการแข่งขัน และยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

4. ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2554 ควรให้ความสำคัญ ดังนี้

4.1 การดูแลราคาสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เนื่องจากราคาสินค้าเกษตร และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะการติดตามแนวโน้มการผลิต และการบริหารสต็อกของสินค้าที่สำคัญ

4.2 การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่สมดุลระหว่างการรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลกและการเงินโลก และการเคลื่อนย้ายเงินทุน

4.3 การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว

4.4 การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและการบริโภคทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ

4.5 การเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ

4.6 การเร่งรัดฟื้นฟูความสามัคคีปรองดองของคนไทย และแก้ปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของไทยในสายตานักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ