ขออนุมัติเงินอุดหนุนองค์การระหว่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 21, 2011 15:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดังนี้

1. เพิ่มวงเงินอุดหนุนให้แก่โครงการพิเศษขององค์การอนามัยโลกในด้านการวิจัยและฝึกอบรมเกี่ยวกับโรคเมืองร้อน (WHO Special Programme for Research and Training in Tropical Diseases : TDR) จากปีละ 750,000 บาท (ประมาณ 20,000 เหรียญสหรัฐ) เป็นปีละ 1,500,000 บาท (ประมาณ 40,000 เหรียญสหรัฐ) โดยใช้งบประมาณหมวดเงินอุดหนุนของ สธ.เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2554 เป็นต้นไป

2. ขยายเวลาและเพิ่มวงเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนโลกเพื่อการต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย (Global Fund to Fignt AIDS, Tuberculosis and Malaria : GF) จากปีละ 1,000,000 เหรียญสหรัฐ เป็นปีละ 1,500,000 เหรียญสหรัฐ โดยใช้งบประมาณหมวดเงินอุดหนุนของ สธ. เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2555 เป็นต้นไป

สาระสำคัญของเรื่อง

สธ.รายงานว่า

1. โครงการ TDR เป็นโครงการระดับโลกเพื่อความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ โดยการริเริ่มขององค์การอนามัยโลก และมีองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และธนาคารโลก (World Bank) ร่วมให้การสนับสนุน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนากลไกในการควบคุมโรคเมืองร้อนและเพิ่มพูนประสิทธิภาพของงานวิจัยเกี่ยวกับโรคเมืองร้อนในประเทศที่ถูกคุกคามจากโรคดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยได้เป็นสมาชิกในคณะกรรมการประสานงานร่วม (Joint Coordinating Board : JCB) ของ TDR มาตั้งแต่ปี 2524 ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้จ่ายเงินอุดหนุนให้แก่โครงการ TDR ตั้งแต่ ปี 2517 -2554 รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 428,000 เหรียญสหรัฐ โดยโครงการ TDR ได้สนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของประเทศไทย ประมาณ 514 โครงการ ในรูปการวิจัยและการฝึกอบรม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 22,000,000 เหรียญสหรัฐ และต่อมาองค์การอนามัยโลกมีหนังสือลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 ขอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มเงินอุดหนุนรายปีให้แก่โครงการ TDR ซึ่ง สธ.จะต้องส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาไปยังองค์การอนามัยโลก เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว สธ.พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการ TDR เป็นโครงการที่สนับสนุนการวิจัยโรคเขตร้อนซึ่งสอดคล้องกับความจำเป็นของประเทศไทย และที่ผ่านมาโครงการ TDR ก็ได้ให้ความสนับสนุนในการพัฒนาศักยภาพแก่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

2. กองทุน GF เป็นกองทุนโลกที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ซึ่งระบาดร้ายแรงในประเทศกำลังพัฒนา การที่ประเทศไทยได้อุดหนุนงบประมาณให้กับกองทุน GF ทำให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในการเป็นหุ้นส่วนของกองทุนดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้จ่ายเงินอุดหนุนให้แก่กองทุน GF ตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี (29 พฤษภาคม 2550) ที่เห็นชอบให้ สธ.บริจาคเงินเข้ากองทุน GF ปีละ 1,000,000 เหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2551 — 2556 ดังนั้น สธ.จึงมีความประสงค์จะเพิ่มวงเงินอุดหนุนให้แก่กองทุน GF จากปีละ 1,000,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 1,500,000 เหรียญสหรัฐ โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2555 เป็นต้นไป ทั้งนี้ กองทุน GF ได้สนับสนุนโครงการต่างๆ ของประเทศไทยในรูปการป้องกัน ควบคุม และรักษา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 424,000,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่ง สธ.พิจารณาแล้วเห็นว่ากองทุน GF ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานในด้านการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งการขยายเวลาและเพิ่มเงินอุดหนุนให้แก่กองทุน GF เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนให้มีความคล่องตัวและต่อเนื่องจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาด้านสาธารณสุขของประเทศไทยและของโลกในภาพรวม และเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ในการจัดการกับโรคดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ