สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน“นกเตน” (NOCK - TEN)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 30, 2011 17:49 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนนกเตน” (NOCK - TEN) และร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่าน

และอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

(ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 25 สิงหาคม 2554)

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย รายงานสรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน“นกเตน” (NOCK - TEN) และร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่าน และอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 25 สิงหาคม 2554) ทำให้มีพื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 32 จังหวัด ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนไปยังจังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์อุทกภัยแล้ว ประกอบกับนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2554 ณ ห้องประชุม 2 กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ เพื่อกำหนดกรอบนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ซึ่งการประชุมดังกล่าว ได้มีการถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้รับทราบด้วย

สำหรับสรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากพายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK - TEN) และร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2554) มีดังนี้

1. การคาดหมายลักษณะอากาศ (ระหว่างวันที่ 24 - 29 สิงหาคม 2554)

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 24 - 29 สิงหาคม 2554 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณดังกล่าวจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ทั่วประเทศมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ขอให้ประชาชน ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

2. การดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย

2.1 รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์) ประธานศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ปี 2554 ได้จัดประชุม คณะกรรมการอำนวยการประจำศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ครั้งที่ 2/2554 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ในวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2554 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยในการประชุม ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำหนดกรอบนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ซึ่งการประชุมดังกล่าว ได้มีการถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้รับทราบด้วยแล้ว

นายกรัฐมนตรีได้สั่งการ ดังนี้

2.1.1 มอบหมายให้กรมชลประทานสำรวจพื้นที่รับน้ำเพิ่มเติม หรือการใช้แก้มลิงเข้ามาช่วยเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่

2.1.2 ให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า ตามภูมิภาค 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวม 4 ศูนย์ ในฐานะศูนย์ประสานงานการจัดการสาธารณภัย ระหว่างหน่วยงาน (Multi Agency Coordination Center: MAC) เพื่อ (1) เป็นจุดศูนย์กลางรับข้อเสนอความต้องการจากจังหวัดเพียงจุดเดียว (Single Ordering Point) แล้วประสานระดมทรัพยากรตามคำร้องขอจัดส่งให้จังหวัด (2) ติดตามสถานการณ์ รายงานรัฐบาล ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ กระทรวง/กรม ที่เกี่ยวข้อง (3) การประสานเพื่อแก้ไข ลดข้อจำกัดด้านงบประมาณ และระเบียบการเบิกจ่าย และ (4) ผู้ว่าราชการจังหวัดยังคงทำหน้าที่บัญชาการ อำนวยการในพื้นที่ตามอำนาจหน้าที่ และในฐานะศูนย์บัญชาการพื้นที่ส่วนหน้า (Area Command) เมื่อสถานการณ์ลุกลามขยายตัว เกินกำลังของจังหวัด เพื่อปฏิบัติหน้าที่ศูนย์ประสานงานการจัดการสาธารณภัย ระหว่างหน่วยงาน และควบคุมสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารจัดการสาธารณภัยภายใต้นโยบายและวัตถุประสงค์ที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้ามอบหมาย) รวมทั้งการให้ข่าวสารต่าง ๆ

2.1.3 การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะเร่งด่วน ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพจัดตั้ง War Room เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการตัดสินใจ โดยเป็นศูนย์กลางการช่วยเหลือแบบ One Stop Service ส่งตรงมาที่ศูนย์บัญชาการเดียว โดยมีเจ้าภาพดูแลชัดเจน นอกจากนี้ให้แบ่งงานเป็น 4 กลุ่ม โดยใช้หลัก 2 P 2 R ประกอบด้วย 1) Preparation การเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 2) Prevention การป้องกัน 3) Response การปฏิบัติการช่วยเหลือ และ 4) Recovery การช่วยเหลือฟื้นฟู โดยให้ใช้กรอบแนวทางดังกล่าวไปแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ที่ถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานานเพื่อเป็น “บางระกำโมเดล” และสามารถปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

2.1.4 มอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าภาพดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์หมายเลขสายด่วน 1111 ด้วย

2.2 เพื่อดำเนินงานตามกรอบนโยบายของรัฐบาล ได้มีการดำเนินการเป็นสองส่วน ดังนี้

2.2.1 ในส่วนกลาง ได้เสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ที่เป็นการบูรณาการการปฏิบัติของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมีรองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ และจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ โดยได้เสนอคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อลงนามแต่งตั้ง แล้ว

สำหรับศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2554 เวลา 09.00 น. เพื่อติดตามสถานการณ์ ประเมินสถานการณ์ อันจะนำไปสู่การสั่งการ การแจ้งเตือนภัย และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

2.2.2 ในส่วนภูมิภาค ได้แจ้งทุกจังหวัด เพื่อทราบแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี และได้มีการปรับประยุกต์ใช้ในการจัดการในจังหวัด สำหรับจังหวัดพิษณุโลก นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้กำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติของจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอุทกภัย “บางระกำโมเดล” อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ที่ครอบคลุมทั้งด้านการเตรียมการ (Preparation) การป้องกัน(Preventation) การช่วยเหลือ (Response) และการฟื้นฟู (Recovery) ไว้แล้ว

2.3 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีโทรสารด่วนที่สุด ที่ มท 0616/ว 3907, ว 3908 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10,15 และ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง และจังหวัดเชียงใหม่ เฝ้าระวังภัยดินโคลนถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก ในระหว่างวันที่ 22 - 23 สิงหาคม 2554 และ ว 7935, ว 7936 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดเชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย เนื่องจากน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง อาจสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนพืชผลทางการเกษตรของประชาชน โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์สาธารณภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์

3. สรุปสถานการณ์อุทกภัย (ข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2554)

เกิดอุทกภัยและมีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวม 32 จังหวัด 267 อำเภอ 1,817 ตำบล 15,209 หมู่บ้าน โดยประกอบด้วยสถานการณ์สำคัญ 2 สถานการณ์ ดังนี้

3.1 สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากพายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK - TEN) และร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 25 สิงหาคม 2554)

พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 30 จังหวัด 259 อำเภอ 1,772 ตำบล 14,856 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดแพร่ เชียงใหม่ สุโขทัย น่าน ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ นครพนม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร บึงกาฬ สกลนคร เลย เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชัยนาท ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,041,639 ครัวเรือน 3,578,168 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 19 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 4,566 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 2,235,626 ไร่ ถนน 5,857 สาย ท่อระบายน้ำ 707 แห่ง ฝาย 664 แห่ง ทำนบ 123 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 466 แห่ง บ่อปลา/บ่อกุ้ง 24,274 บ่อ ปศุสัตว์ 164,253 ตัว มีผู้เสียชีวิต 46 ราย (เสียชีวิต 1 ราย ที่ จ.อุดรธานี สกลนคร อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์, เสียชีวิต 2 ราย ที่ จ.เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก นครพนม ร้อยเอ็ด, เสียชีวิต 4 ราย ที่ จ.ปราจีนบุรี, เสียชีวิต 6 ราย ที่ จ.สุโขทัย, เสียชีวิต 7 ราย ที่ จ.แม่ฮ่องสอน พิจิตร, เสียชีวิต 8 ราย ที่ จ.แพร่) สูญหาย 1 คน (จ.แม่ฮ่องสอน สาเหตุจากดินโคลนถล่ม)

3.1.1 จังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างฟื้นฟู จำนวน 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

3.1.2 ปัจจุบันจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยทั้งสิ้น 10 จังหวัด 49 อำเภอ 348 ตำบล 2,104 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 156,240 ครัวเรือน 494,103 คน ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ นครนายก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี และจังหวัดปราจีนบุรี ดังนี้

1) จังหวัดสุโขทัย พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 9 อำเภอ 82 ตำบล 616 หมู่บ้าน 6 ชุมชน ได้แก่ อำเภอศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง เมืองสุโขทัย ศรีนคร บ้านด่านลานหอย ทุ่งเสลี่ยม คีรีมาศ และอำเภอกงไกรลาศ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 40,011 ครัวเรือน 118,920 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 7 หลัง เสียหายบางส่วน 6 หลัง พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 299,747 ไร่ บ่อปลา 685 บ่อ ถนน 306 สาย ท่อลอดเหลี่ยม 209 แห่ง ท่อระบายน้ำ 99 แห่ง ฝาย 3 แห่ง บ่อน้ำ 1 แห่ง คอสะพาน 5 แห่ง ประปาหมู่บ้าน 24 แห่ง คลอง 18 แห่ง โรงเรียน 34 แห่ง วัด 27 แห่ง เสียชีวิต 6 ราย (อ.สวรรคโลก 3 ราย อ.ศรีสำโรง 1 ราย อ.เมืองสุโขทัย 1 ราย อ.ศรีสัชนาลัย 1 ราย)

ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังอันเนื่องมาจากฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน และน้ำไหลจากจังหวัดแพร่เข้าท่วมซ้ำในพื้นที่ 3 อำเภอ 30 ตำบล 153 หมู่บ้าน 6 ชุมชน ได้แก่ อำเภอศรีสำโรง เมืองสุโขทัย และอำเภอกงไกรลาศ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

2) จังหวัดพิจิตร พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 10 อำเภอ 60 ตำบล 356 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอสามง่าม บึงนาราง โพทะเล โพธิ์ประทับช้าง วชิรบารมี เมืองพิจิตร ตะพานหิน บางมูลนาก สากเหล็ก และอำเภอทับคล้อ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 23,089 ครัวเรือน 63,486 คน บ้านเรือนราษฎรเสียหายบางส่วน 1 หลัง พื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ 135,478 ไร่ ประมง/บ่อปลา 7 บ่อ ถนน 18 สาย ท่อระบายน้ำ 4 แห่ง เสียชีวิต 7 ราย (อ.โพธิ์ประทับช้าง 1 ราย อ.ตะพานหิน 1 ราย อ.สามง่าม 5 ราย) ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลมาจากอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และน้ำในแม่น้ำน่านจากการระบายน้ำเพิ่มขึ้นของเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

3) จังหวัดพิษณุโลก พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 7 อำเภอ 67 ตำบล 434 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 12,476 ครัวเรือน 46,171 คน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 1 หลัง พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าได้รับผลกระทบ 157,969 ไร่ ถนน 22 สาย ปศุสัตว์ 2 ตัว สัตว์ปีก 97 ตัว ประมง 156 บ่อ กบ 500 ตัว เสียชีวิต 2 ราย (อ.บางระกำ)

ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ 38 ตำบล 348 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองพิษณุโลก บางระกำ และอำเภอพรหมพิราม ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 9,118 ครัวเรือน 32,675 คน ระดับน้ำทรงตัว

4) จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 8 อำเภอ 26 ตำบล 191 หมู่บ้าน 1 ชุมชน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 11,900 ครัวเรือน 35,461 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 84,795 ไร่

ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ 20 ตำบล 140 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอชุมแสง โกรกพระ เก้าเลี้ยว เมืองนครสวรรค์ และอำเภอตาคลี ราษฎรได้รับความเดือดร้อนประมาณ 3,532 ครัวเรือน 11,366 คน ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

5) จังหวัดอ่างทอง พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 5 อำเภอ 16 ตำบล 43 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอป่าโมก เมืองอ่างทอง ไชโย วิเศษชัยชาญ โพธิ์ทอง

6) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 8 อำเภอ 101 ตำบล 543 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอผักไห่ บางไทร บางปะอิน เสนา บางบาล พระนครศรีอยุธยา มหาราช และอำเภอบางปะหัน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 18,807 ครัวเรือน 40,940 คนพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 20,621 ไร่ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

7) จังหวัดชัยนาท พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 1 อำเภอ 3 ตำบล 20 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอสรรพยา ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,731 ครัวเรือน 5,193 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 10,400 ไร่

8) จังหวัดนครนายก พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 4 อำเภอ 14 ตำบล 16 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอองครักษ์ ปากพลี บ้านนา และอำเภอเมืองนครนายก ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4,821 ครัวเรือน 14,463 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 9,461 ไร่ ปศุสัตว์ 30 ตัว ประมง 124 บ่อ ถนน 10 สาย สะพาน 2 แห่ง ฝาย 1 แห่ง วัด 1 แห่ง

9) จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 16 อำเภอ 101 ตำบล 772 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 41,311 ครัวเรือน 181,614 คน อพยพ 365 คน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 163 หลัง พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 115,334 ไร่ บ่อปลา 181 บ่อ ถนน 175 สาย สะพาน 21 แห่ง ฝาย 2 แห่ง ท่อระบายน้ำ 53 แห่ง วัด 3 แห่ง โรงเรียน 4 แห่ง

ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ 44 ตำบล 341 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอโขงเจียม นาตาล ศรีเมืองใหม่ ตระการพืชผล และอำเภอเมืองอุบลราชธานี ระดับน้ำลดลง

10) จังหวัดปราจีนบุรี พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 4 อำเภอ 22 ตำบล 144 หมู่บ้าน 5 ชุมชน ได้แก่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี กบินทร์บุรี ศรีมหาโพธิ และอำเภอประจันตคาม ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,304 ครัวเรือน 3,933 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 2,172 ไร่ เสียชีวิต 4 ราย (อ.เมืองปราจีนบุรี 2 ราย อ.กบินทร์บุรี 2 ราย) ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

3.2 สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ย (ระหว่างวันที่ 17 - 25 สิงหาคม 2554) ส่งผลกระทบในพื้นที่และประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 2 จังหวัด 8 อำเภอ 45 ตำบล 353 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดระยอง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 8,164 ครัวเรือน 25,193 คน ดังนี้

1) จังหวัดเชียงราย พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 7 อำเภอ 44 ตำบล 351 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอพาน เวียงป่าเป้า เวียงแก่น เชียงของ เชียงแสน แม่จัน และอำเภอแม่สรวย ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 8,164 ครัวเรือน 25,193 คน

2) จังหวัดระยอง พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแกลง ที่ตำบลทุ่งควายกิน (หมู่ที่ 4,11) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 125 ครัวเรือน 378 คน

อนึ่ง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 เวลา 16.30 น. ได้เกิดวาตภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ที่หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม บริเวณหน้าเทศบาลตำบลบ้านแหลมจนถึงโรงงานเขนหนิง ซีฟู๊ด ฝั่งซ้ายของถนนที่จะไปองค์การบริหารส่วนตำบลบางตะบูน เสาไฟฟ้าล้มประมาณ 50 ต้น เป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร รายงานเบื้องต้น มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 3 คน (จังหวัดกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม)

4. การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงาน

4.1 กระทรวงมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดส่งทรัพยากรช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

4.2 การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อาทิเช่น ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย เหล่าทัพต่างๆ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฯลฯ

5. การดำเนินการของผู้บังคับบัญชาระดับสูง/ข้อสั่งการ

การประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.)

  • วันที่ 22 สิงหาคม 2554 ซึ่ง นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานการประชุม ศอส. ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มีข้อสรุป ดังนี้

1) ให้จังหวัดที่มีพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ที่มีการแจ้งเตือนภัยเป็นการเฉพาะได้แก่ อำเภอแม่สาย แม่จัน แม่ฟ้าหลวง เทิง จังหวัดเชียงราย อำเภอปง เชียงคำ จุน จังหวัดพะเยา อำเภอบ่อเกลือ ปัว เฉลิมพระเกียรติ ท่าวังผา สองแคว เชียงกลาง บ้านหลวง จังหวัดน่าน อำเภอแม่ทะ ห้างฉัตร แจ้ห่ม งาว จังหวัดลำปาง อำเภอฝาง แม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก และ อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ได้เตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที

2) ให้มีการแจ้งเตือนประชาชนเพื่อรับทราบข้อมูล สถานการณ์ เพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อม โดยช่องทาง การสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง (สื่อภาครัฐ สื่อชุมชน อาสาสมัคร และผู้นำท้องถิ่น/ชุมชน ฯลฯ)

  • วันที่ 23 สิงหาคม 2554 ซึ่ง นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม ศอส. ร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ได้มีข้อสรุป ดังนี้

1) เห็นควรเสนอให้รัฐบาลมีการจัดตั้งศูนย์รับบริจาค โดยมีสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นศูนย์รับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

2) ขอให้กรมการปกครอง ตรวจสอบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยที่นอกเหนือขีดความสามารถของจังหวัดและอำเภอ เพื่อที่จะให้การสนับสนุนได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึง

3) การประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากอุทกภัย จากข้อมูลที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในระหว่างที่เกิดอุทกภัย จึงมอบให้กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกันให้ความรู้กับประชาชนผ่านทางสื่อมวลชนทุกแขนง และสื่อบุคคล ประกอบด้วย อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อาสาสมัครสาธารณสุข และอาสาสมัครอื่นๆ ผู้นำท้องที่ และผู้นำท้องถิ่น เพื่อให้การประชาสัมพันธ์นั้นถึงประชาชนได้รวดเร็วและทั่วถึง

4) กรณีการเกิดอุทกภัยในเขต อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งปรากฏข่าวทางสื่อมวลชน บางรายการนั้น ได้รับการยืนยันจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า จังหวัดได้ประกาศให้ท้องที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จังหวัด อำเภอ และเทศบาลตำบลบางบาล ได้จัดเต๊นท์ ที่พักอาศัย จัดสร้างห้องสุขาชั่วคราว ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 1 ปทุมธานี จัดส่งเต๊นท์ที่พักอาศัยเพิ่มเติมให้กับพื้นที่ประสบภัยแล้ว และเนื่องจากขณะนี้ประชาชนได้มาสร้างที่พักอาศัยอยู่ริมท้องถนน จึงขอความร่วมมือผู้ขับขี่ยานพาหนะในเส้นทางดังกล่าวใช้ความระมัดระวังด้วย

5) กรณีที่เกิดข่าวสารทางสื่อมวลชนเรื่องข้อปัญหาอุปสรรคในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานชี้แจงสื่อมวลชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องโดยเร่งด่วนด้วย

  • วันที่ 24 สิงหาคม 2554 ซึ่ง นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม ศอส. ได้มีข้อสรุป ดังนี้

1) ให้จังหวัดได้มีการประชาสัมพันธ์เพื่อลดความสูญเสียในพื้นที่ประสบภัยโดยเฉพาะผู้เสียชีวิต เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้เฝ้าระวังมากยิ่งขึ้น

2) ให้ใช้กลไกของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ของจังหวัด ทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับทราบแนวทาง การบริหารจัดการน้ำเพื่อลดข้อขัดแย้ง

3) ในประเด็นที่เกิดข่าวสารทางสื่อมวลชนกรณีให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการตรวจสอบข่าวสารและทำความเข้าใจต่อประชาชนและสื่อมวลชนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอข้อสั่งการจากศูนย์ฯ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในกระบวนการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ

4) ให้จังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลาย เร่งสำรวจความเสียหายด้านชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งสาธารณูปโภค และพื้นที่การเกษตร เพื่อจะได้ทำการฟื้นฟูและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนต่อไป

6. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

6.1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำสิ่งของพระราชทานไปมอบให้แก่ราษฎรเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดแพร่ สุโขทัย เชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย รวมจำนวน 6,000 ชุด

6.2 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ นำชุดธารน้ำใจฯ พระราชทาน ไปมอบให้แก่ราษฎร ที่ประสบอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน - 23 สิงหาคม 2554 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ หนองคาย พิษณุโลก แพร่ สุโขทัย และจังหวัดพิจิตร รวมจำนวน 10,962 ชุด น้ำดื่มจากมูลนิธิ โคคา-โคลา รวมจำนวน 88,584 ขวด รวมมูลค่า 11,101,000 บาท

6.3 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร และพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรราชาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ผู้แทนพระองค์ฯ มอบถุงยังชีพพระราชทานให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย ที่จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 1,000 ถุง ยาสามัญประจำบ้าน จำนวน 250 ชุด และนมจิตรลดา จำนวน 100 ลัง

6.4 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประทานให้ นายอภัย จันทนจุลกะ รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) สภากาชาดไทย เป็นผู้แทนฯ มอบถุงยังชีพพระราชทาน ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ 45 ถุง และมอบถุงยังชีพพระราชทานให้ผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดอุดรธานี รวมจำนวน 1,573 ชุด

6.5 สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยผู้แทนพระองค์ มอบสิ่งของพระราชทานช่วยเหลือราษฎร ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และจังหวัดกาฬสินธุ์ ในระหว่างวันที่ 16 - 25 สิงหาคม 2554 รวมจำนวน 5,000 ชุด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 สิงหาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ