การลงนามกรอบความร่วมมือระหว่างไทยกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระหว่างปี 2555 — 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 29, 2012 11:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบความร่วมมือ Country Programming Framework (CPF) 2012 —2016 และกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)เสนอ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงกรอบความร่วมมือ CPF 2012 —2016 ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการลงนามให้ กษ. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ลงนามกรอบความร่วมมือ CPF 2012 —2016 ร่วมกับผู้แทนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO)

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า

1. FAO เป็นองค์การชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการบริโภคอาหารและมาตรฐานการครองชีพของประชากรในโลกให้ดีขึ้น โดยให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกผ่านทางโครงการความร่วมมือทางวิชาการตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามความต้องการของผู้ให้คือ FAO มากกว่าที่จะคำนึงถึงความต้องการของประเทศสมาชิก ดังนั้น ในปี 2548 ทาง FAO จึงได้ริเริ่มให้มีการจัดทำกรอบความร่วมมือระยะปานกลางระหว่างประเทศสมาชิกกับ FAO โดยใช้ชื่อว่า National Medium Term Priority Framework (NMTPF) เพื่อเป็นกรอบหรือแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือของ FAO ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของประเทศสมาชิก โดยไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่เริ่มจัดทำกรอบความร่วมมือดังกล่าวกับ FAO และต่อมาในปี 2554 ได้เปลี่ยนชื่อกรอบความร่วมมือ จาก NMTPF เป็น CPF เนื่องจากชื่อเดิมไม่ได้สื่อความหมายของความร่วมมือที่ชัดเจน

2. ประเด็นสำคัญ (Priority Areas) ในกรอบความร่วมมือ CPF 2012-2016 มี 6 ประเด็น ได้แก่

2.1 การบรรเทาความยากจนและลดความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน (Poverty alleviation and reduction of social and economic inequalities through sustainable agricultural development)

2.2 การปรับตัวและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ และการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (Adaptation and mitigation of negative impacts of climate change and natural disasters, and promotion of sustainable natural resources management)

2.3 การสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียน ความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา และความร่วมมือด้านการเกษตรระดับภูมิภาคอื่น ๆ ( Facilitating ASEAN integration, South-South cooperation and other regional cooperation in the agriculture sectors)

2.4 การสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและคุณภาพอาหารส่งเสริมการค้า และการมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ (Ensuring food safety and quality, and promoting trade and food availability to consumers )

2.5 การสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเกษตร และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและเยาวชนในชนบท (Empowering farmers’ organizations, and promoting private-sector involvement and rural youth)

2.6 การปรับนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารและด้านพลังงานชีวภาพให้มีความสอดคล้องกัน (Harmonization of food security and bio-energy policy development)

3. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นว่ากรอบความร่วมมือ CPF 2012 — 2016 เป็นการกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างไทยกับ FAO ซึ่งระบุหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและ FAO โดยมุ่งเน้นการให้คำแนะนำด้านวิชาการและนโยบายทางการเกษตร และมิได้ก่อให้เกิดพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น กรอบความร่วมมือ CPF 2012 — 2016 จึงไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

4. กรอบความร่วมมือ CPF 2012 — 2016 จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 เป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 5 ปี และโดยที่กรอบความร่วมมือ CPF 2012 — 2016 มีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการของไทยหลายกระทรวงที่ควรจะต้องรับทราบและร่วมกันดำเนินงาน และอาจมีนัยเป็นผลผูกพันทางด้านนโยบายการเกษตรต่างประเทศของรัฐบาลไทย และเพื่อให้การดำเนินงานความร่วมมือเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ