สรุปผลการประชุมหารือเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจ ครั้งที่ 5/2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 27, 2012 11:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมหารือเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจ ครั้งที่ 5/2555 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

ตามที่ นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจ ครั้งที่ 5/2555 เมื่อวันพุธที่ 20 มิถุนายน 2555 ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจและหารือเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยูโร โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพลังงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย นั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้สรุปผลการประชุมหารือเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สาระสำคัญ ความเห็นและประเด็นอภิปรายและมติคณะกรรมการฯ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม

เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่องทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐ และอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุน โดยด้านอุปสงค์ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งดัชนีการอุปโภคบริโภค และการลงทุน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมที่เพิ่มขึ้น แสดงถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิต อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังคงหดตัวร้อยละ 3.5 ในขณะที่การจัดเก็บรายได้ยังขยายตัวได้ดี และเป็นไปตามเป้า อย่างไรก็ตามการเบิกจ่ายงบประมาณเดือนพฤษภาคมชะลอตัวลงจากเดือนที่แล้ว เป็นผลจากรายจ่ายประจำที่ชะลอตัวลง เนื่องจากรัฐบาลได้เร่งเบิกจ่ายไปแล้วค่อนข้างมากในช่วงสองเดือนก่อนหน้านี้ สำหรับราคาพลังงานยังคงทรงตัว และไม่มีสัญญาณการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อัตราดอกเบี้ย ยังคงที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี

2. วิกฤติเศรษฐกิจยูโร

วิกฤติเศรษฐกิจยูโรโซน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและวินัยการคลังที่สะสมต่อเนื่องมาอย่างน้อย 4 ปี และอาจต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา สร้างความผันผวนในตลาดการค้าและการเงิน โดยไทยจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน โดยเฉพาะผลกระทบทางอ้อมจากการส่งออกไปตลาดสำคัญอื่นๆ เช่น อาเซียน จีน และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบของวิกฤติยูโรต่อเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในวงจำกัด

ความเห็นและประเด็นอภิปราย

1. หน่วยงานต่างๆ ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยูโรต่อเศรษฐกิจไทยในด้านต่างๆ ดังนี้

1.1 ธนาคารแห่งประเทศไทย

1) ผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ (1) การค้าระหว่างประเทศ (2) ระบบสถาบันการเงิน และ (3) ตลาดการเงิน แต่ที่เห็นผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในปัจจุบันคือ ผลกระทบผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเป็นผลที่ส่งผ่านมาจากประเทศในยุโรป ประเทศจีน และประเทศคู่ค้าของไทยในอาเซียน ซึ่งสะท้อนจากคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่การผลิต

2) ผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทยค่อนข้างจำกัด เนื่องจากไทยมีธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินในยุโรปไม่มากนัก อีกทั้งสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่งและยังมีสภาพคล่องที่ดี อย่างไรก็ตาม หากปัญหามีความรุนแรงขึ้นในวงกว้างอาจส่งผลกระทบต่อสินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ (Trade finance) ได้

3) ตลาดการเงินของโลกอาจได้รับผลกระทบและเกิดความผันผวนค่อนข้างมาก ในขณะที่ตลาดการเงินของไทยจะได้รับผลกระทบในวงจำกัดเนื่องจาก (1) นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และ (2) การไหลเข้าออกของเงินในตลาดทุนมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นปีเงินทุนยังคงไหลเข้าสุทธิทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้

1.2 กระทรวงการคลัง

1) สถานะทางการคลังของไทยยังมีความมั่นคง โดยการจัดเก็บรายได้น่าจะยังทำได้ตามเป้าหมาย และคาดว่าจะสามารถรับมือกับภาวะวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาหลายปี ในขณะที่ตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ยังคงอยู่ในระดับที่ดี และการส่งออกของผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดย่อมยังไม่มีสัญญาณว่าจะได้รับผลกระทบ อีกทั้งประสบการณ์ของไทยที่ผ่านมาคาดว่าจะสามารถรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นในกรณีต่างๆ ได้

2) ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลง เป็นโอกาสดีในการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐวิสาหกิจ

3) ผลกระทบต่อการจ้างงานที่อาจเกิดขึ้นน่าจะไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการที่เคยมีการเลิกจ้าง ประสบปัญหาการหาแรงงานมาทดแทนในภายหลัง ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีความรอบคอบในการตัดสินใจเลิกจ้างมากขึ้น

1.3 กระทรวงแรงงาน

1) วิกฤติเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปจะกระทบต่อภาคแรงงานใน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) กลุ่มแรงงานภายในประเทศ (2) กลุ่มแรงงานไทยในประเทศกลุ่มยูโร และ (3) กลุ่มผู้ประกอบการในยุโรป เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า และสปา เป็นต้น โดยกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มแรงงานภายในประเทศเป็นผลมาจากการส่งออกที่อาจลดลง ในขณะที่กลุ่มอื่นยังไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก

2) จากการเปรียบเทียบสถานะการจ้างงานในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปี 2552 พบว่าการจ้างงานภายในประเทศลดลงมาก เห็นได้จากอัตราการเปลี่ยนแปลงของผู้ประกันตนที่หดตัวลง ร้อยละ 2.72 ในขณะที่อัตราการเปลี่ยนแปลงของผู้ขึ้นทะเบียนผู้ประกัน กรณีเลิกจ้าง/ลาออก และอัตราการเปลี่ยนแปลงของผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ สถานการณ์จ้างงานปัจจุบันยังคงขยายตัว แม้มีการชะลอตัวเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการจ้างงานในระบบประกันสังคมในไตรมาสแรก ปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 0.2 ซึ่งชะลอตัวจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยมีผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียน กรณีว่างงาน และผู้ประกันตนขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2555 ขยายตัวร้อยละ 55.5 และ 34.9 ตามลำดับ

3) แรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบประกอบด้วย อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง อัญมณี สิ่งพิมพ์ เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และเลนส์ ซึ่งหดตัวในช่วง 4 เดือนแรกของปี สะท้อนถึงแนวโน้มผลกระทบต่อการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในอนาคต

1.4 กระทรวงพาณิชย์

1) สถานการณ์ส่งออกของไทยในช่วง 4 เดือนแรก หดตัวร้อยละ 3.9 และคาดว่าสินค้าส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ประกอบด้วย สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องนุ่งห่ม และยานยนต์ ในขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารเกษตรแช่แข็งและแปรรูปน่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก โดยกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่น่าจะได้รับผลกระทบมากจะเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการส่งออกทั้งหมด

2) กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดเป้าการส่งออกไปกลุ่มยูโรโซนลงจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 5 แต่ยังคงเป้าหมายการส่งออกปี 2555 ไว้ที่ร้อยละ 15

3) มาตรการสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการเพื่อรับมือกับวิกฤติยูโรโซน ประกอบด้วย (1) การรักษาตลาดหลักในยุโรปที่ยังคงมีศักยภาพดี เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และ เบลเยี่ยม (2) ขยายตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง เช่น จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และรัสเซีย (3) สร้างอุปสงค์ในประเทศให้แข็งแกร่ง (4) เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการส่งเสริมการตลาดที่ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น กิจกรรมคณะผู้แทนทางการค้า กิจกรรมงานแสดงสินค้า กิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ กิจกรรมส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ เป็นต้น

1.5 กระทรวงอุตสาหกรรม

1) อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อัญมณี และยานยนต์ ดังนั้นต้องมีการดำเนินมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันและเตรียมรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยูโรอย่างจริงจัง เช่น การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การพัฒนาหัวเมืองรองให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเมืองหลวงเพื่อขยายความเจริญและเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ การผลิตสินค้าทดแทน (Substitute Products) ซึ่งควรเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งจะมีความต้องการสูงเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว

2) การที่ธนาคารโลกจัดให้ไทยเป็นประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper middle income country) อาจส่งผลกระทบต่อการให้สิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) จากสหภาพยุโรป ซึ่งโดยปกติจะมีการทบทวนการให้สิทธิทุกๆ 3 ปี

1.6 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

1) มูลค่าการค้าสินค้าเกษตร และมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร (ไม่รวมยางพารา) ไปยังสหภาพยุโรปเฉลี่ยระหว่างปี 2548 — 2554 มีมูลค่า 125,000 และ 98,000 ล้านบาทต่อปี ตามลำดับ โดยในปี 2554 สินค้าเกษตรไม่รวมยางพารามีมูลค่า 115,000 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ประกอบด้วย เนื้อไก่ปรุงแต่ง ทูน่ากระป๋อง กุ้งปรุงแต่ง กุ้งแช่แข็ง สัปปะรดกระป๋อง และข้าว ในขณะที่ยางพารามีมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 50,000 ล้านบาทต่อปี

2) การส่งออกสินค้าเกษตรไปยังสหภาพยุโรปในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2555 มีมูลค่ารวม 35,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.0 อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกยางพาราลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.3 ส่งผลให้ราคายางพาราในประเทศลดลง สะท้อนว่าการส่งออกสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติไม่มากนัก ในขณะที่สินค้าเกษตรที่ไม่ใช่อาหารโดยเฉพาะยางพาราอาจได้รับผลกระทบอย่างมาก

3) คาดว่า หากวิกฤติดังกล่าวไม่รุนแรง ภาคเกษตรจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 5.0 ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น โดย กรณีปัญหาในกรีซยังคงเรื้อรังและการให้ความช่วยเหลือแก่กรีซไม่เป็นไปตามที่ตกลงจะทำให้ภาคเกษตรของไทยขยายตัวร้อยละ 3.4 และกรณีปัญหารุนแรงและขยายตัวในวงกว้างทั้งกลุ่ม PIIGS จะทำให้ภาคเกษตรขยายตัวเพียงร้อยละ 2.9

1.7 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ภาคการท่องเที่ยวยังไม่มีสัญญาณการได้รับผลกระทบจากวิกฤติยูโร โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 เดือนแรก เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.27 เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะ ภูมิภาคแอฟริกา อเมริกา และยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.46 10.92 และ 10.91 ตามลำดับ ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง ลดลงร้อยละ 2.01

1.8 กระทรวงพลังงาน

1) ราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิต และการลดลงของการเก็งกำไรของนักลงทุน อีกทั้งราคาพลังงานในช่วงที่เหลือของปี โดยปกติจะต่ำกว่าช่วงต้นปี และวิกฤติในยูโรโซนไม่น่ากระทบต่อราคาน้ำมันมากนักเนื่องจากประเทศในกลุ่มยูโรโซนมิใช่เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ โดยความเสี่ยงของราคาน้ำมัน ประกอบด้วย ปัญหาในอิหร่านซึ่งไม่น่าจะเรื้อรัง และราคาพลังงานในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

2) ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง เป็นผลดีต่อการปรับดุลสถานะของกองทุนน้ำมันที่มีสภาพติดลบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในระยะ 4-5 เดือนนี้อาจมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสถานะของกองทุนน้ำมันในระยะยาว

1.9 กระทรวงคมนาคม

วิกฤติยูโรโซนจะส่งผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย (1) ภาระหนี้ของรัฐวิสาหกิจอาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาท (2) การหาแหล่งเงินทุนแหล่งใหม่ของรัฐวิสาหกิจอาจมีต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย (3) การลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจอาจมีความล่าช้า โดยเฉพาะ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และ (4) รายได้ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งอาจได้รับผลกระทบ เช่น บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นต้น

1.10 กระทรวงการต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศมีการติดตามสถานการณ์ในยุโรปเพื่อรายงานให้รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นประจำทุกสัปดาห์ และมีมาตรการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างตลาดในภูมิภาค และตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ โดยการสร้างความเข้มแข็งการทำงานของทีมไทยแลนด์ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

มติที่ประชุม

1. ให้มีคณะทำงานสำหรับการติดตามผลกระทบจากวิกฤติการเงินในยุโรป จำนวน 3 คณะ ดังนี้

1) การประชุมหารือเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจ โดยมี นายกรัฐมนตรี เป็นประธานจัดประชุมทุก 2 สัปดาห์

2) คณะทำงานติดตามภาวะเศรษฐกิจ ที่ได้รับมอบหมายจาก นายกรัฐมนตรี โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นประธาน จัดประชุมทุกสัปดาห์ แล้วนำเสนอผลการพิจารณาต่อที่ประชุมหารือเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในสัปดาห์ถัดไป

3) คณะทำงานร่วมระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจในประเด็นที่เกี่ยวข้องรายวัน รายสัปดาห์ โดยให้จัดทำ Template เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานสถานการณ์ในรูปแบบเดียวกัน รวมทั้งวิเคราะห์สถานการณ์และกำหนด Trigger point เพื่อช่วยในการติดตามสถานการณ์และดำเนินมาตรการใน กรณีต่างๆ ที่จำเป็นได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งศึกษาผลกระทบของการส่งออกของไทยไปกลุ่มยูโรโซนทั้งทางตรงและทางอ้อมแยกรายสาขาที่สำคัญ

2. มอบหมายกระทรวงการคลัง ติดตามข้อมูลผู้ประกอบการที่ทำการค้ากับประเทศในกลุ่มยูโรโซน โดยใช้ฐานข้อมูลลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

3. มอบหมายกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงคมนาคม เสนอแนะแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของรัฐวิสาหกิจ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน

4. มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี และยานยนต์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มิถุนายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ