ขอความเห็นชอบ ข้อกำหนดว่าด้วยระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 27, 2012 13:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแล สารเคมีและวัตถุอันตราย นำข้อกำหนดว่าด้วยระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ. 2555 ไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการควบคุม กำกับ ดูแล สารเคมีและวัตถุอันตรายให้เกิดความปลอดภัยต่อไป ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

อก. รายงานว่า

1. กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ. 2555 ซึ่งมีรายละเอียดเป็นไปตามระบบ GHS (Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals) หรือระบบการจำแนกความเป็นอันตรายและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติมีที่มาจากมติที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development; UNCED) หรือ Earth Summit ที่ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยได้กำหนดกระบวนงานความร่วมมือระหว่างประเทศตาม Program Area B ภายใต้ Chapter 19 ของ Agenda 21 ในเรื่องการพัฒนาระบบ GHS เพื่อสนับสนุนการจัดการสารเคมีไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นแนวทางสำหรับทุกประเทศในการพัฒนาแผนการจัดการสารเคมีแห่งชาติเพื่อการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยองค์การสหประชาชาติจึงได้จัดทำเอกสารคู่มือสำหรับระบบ GHS หรือ Purple Book ขึ้น และปรับปรุงทุก ๆ 2 ปี และในปี พ.ศ. 2546 เวทีการประชุมระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความปลอดภัยสารเคมี (Intergovernmental Forum on Chemical Safety; IFCS) ครั้งที่ 4 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพโดยกระทรวงสาธารณสุขที่ประชุมได้เน้นถึงความสำคัญของการพัฒนาข้อมูลสถานการณ์ระดับชาติเพื่อการจัดการสารเคมี (National Chemicals Management Profile) ของนานาชาติ รวมทั้งประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงในการนำระบบ GHS ไปใช้ เพื่อให้มีผลในการปฏิบัติภายในปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2009)

2. การจัดทำระบบ GHS มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

2.1 เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากสารเคมี โดยให้มีการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีด้วยฉลาก และข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี

2.2 เป็นแนวทางสำหรับประเทศที่ไม่มีระบบการจำแนกประเภทและติดฉลากสารเคมี

2.3 ลดความซ้ำซ้อนของการทดสอบและประเมินสารเคมี

2.4 เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการค้าสารเคมีระหว่างประเทศโดยมีการประเมินและระบุความเป็นอันตรายของสารเคมีภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน ทั้งนี้ ข้อกำหนดเกี่ยวกับเกณฑ์การจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีเป็นไปตาม UN GHS (Purple Book) มีการทบทวนปรับปรุงทุก ๆ 2 ปี

3. สาระสำคัญของข้อกำหนดว่าด้วยระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย ประกอบด้วย

3.1 เกณฑ์การจำแนกความเป็นอันตรายสำหรับวัตถุอันตรายที่เป็นสารเดี่ยว (substance) หรือสารผสม (mixture) โดยแบ่งเกณฑ์การจำแนกความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายเป็น 3 ประเภท ดังนี้

3.1.1 เกณฑ์การจำแนกความเป็นอันตรายทางกายภาพและองค์ประกอบการสื่อสารความเป็นอันตรายในฉลาก

3.1.2 เกณฑ์การจำแนกความเป็นอันตรายต่อสุขภาพและองค์ประกอบการสื่อสารความเป็นอันตรายในฉลากวัตถุอันตราย

3.1.3 เกณฑ์การจำแนกความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและองค์ประกอบการสื่อสารความเป็นอันตรายในฉลากวัตถุอันตราย ซึ่งเกณฑ์การจำแนกความเป็นอันตรายดังกล่าวเป็นไปตาม Annex 2 Classification and Labelling summary tables ของคู่มือสำหรับระบบ GHS หรือ Purple Book ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009)

3.2 องค์ประกอบการสื่อสารความเป็นอันตรายบางส่วนซึ่งองค์ประกอบของฉลาก จะต้องประกอบด้วยอย่างน้อย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ รูปสัญลักษณ์ (pictogram) คำสัญญาณ (signal word) และข้อความแสดงความเป็นอันตราย (hazard statement) ซึ่งการแสดงองค์ประกอบของการสื่อสารความเป็นอันตรายจะต้องสอดคล้องกับการจำแนกความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย

3.3 ข้อสนเทศที่ต้องระบุในเอกสารข้อมูลความปลอดภัย มีทั้งหมด 16 หัวข้อ ซึ่งข้อมูลขั้นต่ำของเอกสารข้อมูลความปลอดภัยดังกล่าว เป็นไปตาม Chapter 1.5 Hazard Communication: Safety Data Sheet (SDS) ของคู่มือสำหรับระบบ GHS หรือ Purple Book ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009)

4. คณะกรรมการวัตถุอันตราย ในการประชุมครั้งที่ 10-2/2554 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2554 มีมติมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมนำเสนอข้อกำหนดว่าด้วยระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย แนบท้ายประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบการจำแนกความเป็นอันตรายและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ. 2555 ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเห็นชอบให้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการควบคุมกำกับ ดูแล สารเคมีและวัตถุอันตรายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

5. อก. พิจารณาแล้วเห็นว่า หากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลสารเคมีและวัตถุอันตรายนำข้อกำหนดว่าด้วยระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการควบคุม กำกับ ดูแล สารเคมีและวัตถุอันตรายเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีนั้นอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกันจะส่งผลให้การส่งเสริมการปกป้องสุขภาพคนงานและผู้บริโภคจากอันตรายของสารเคมี มีประสิทธิภาพมากขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มิถุนายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ