กำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 11, 2012 11:23 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. พื้นที่ที่องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) ทำข้อตกลงบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบด้วย

1.1 พื้นที่เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์

1.2 พื้นที่เทศบาลตำบลบางเสร่ จังหวัดชลบุรี

1.3 พื้นที่เทศบาลเมืองพะเยา

1.4 พื้นที่เทศบาลนครสงขลา

1.5 พื้นที่แหลมฉบัง

1.6 พื้นที่มาบตาพุด

2. พื้นที่ที่ อจน. ได้มีการทำบันทึกความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจะได้พัฒนาไปสู่การทำข้อตกลงการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบด้วย

2.1 พื้นที่เทศบาลเมืองกระบี่

2.2 พื้นที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์

2.3 พื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ รวมถึงพื้นที่ในแนวท่อระบายน้ำเสียและที่ตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เทศบาลตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่

2.4 พื้นที่เทศบาลนครนครสวรรค์

2.5 พื้นที่เทศบาลนครลำปาง

2.6 พื้นที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

2.7 พื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่

2.8 พื้นที่เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ

2.9 พื้นที่เทศบาลเมืองหนองบัวลำภู

3. พื้นที่ตามเขตควบคุมมลพิษตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกำหนด ประกอบด้วย

3.1 พื้นที่จังหวัดภูเก็ต

3.2 พื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

3.3 พื้นที่อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

3.4 พื้นที่หมู่เกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่

3.5 พื้นที่อำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

3.6 พื้นที่ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี

3.7 พื้นที่ตำบลมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง ตำบลเนินพระ ตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา และตำบลบ้างฉาง อำเภอบ้างฉาง จังหวัดระยอง

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้มาตรการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติรวมแล้ว 101 แห่ง ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 83,000 ล้านบาท มีความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย (Capacity) รวม 3.2 ล้าน ลบ.ม./วัน คิดเป็นร้อยละ 22.8 ของปริมาณน้ำเสียชุมชนที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 7,852 แห่ง เห็นได้ว่าประเทศไทยต้องดำเนินการจัดการน้ำเสียในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนมาก

2. อจน. ได้ดำเนินการจัดทำแผนการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารจัดการแบบใหม่เพื่อให้การบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลคุ้มกับงบประมาณที่รัฐได้ลงทุนไว้แล้ว และสามารถแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน โดย อจน. ได้ประเมินศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่าง ๆ คัดเลือกพื้นที่ในการดำเนินงานที่มีศักยภาพและมีความพร้อม พื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และความพร้อมของผู้บริหารท้องถิ่นที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และพร้อมที่จะสนับสนุนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการบำบัดน้ำเสีย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

2.1 ในปีแรก อจน. จะเข้าดำเนินการ ซ่อมแซม ปรับปรุง ฟื้นฟู ระบบบำบัดน้ำเสีย เดินระบบและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสีย พร้อมกับการเตรียมความพร้อมการจัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการบำบัดน้ำเสีย รวมถึงการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้

2.2 การดำเนินงานในปีถัดไป อจน. จะดำเนินการบริหารจัดการเดินระบบและบำรุงรักษาระบบ จัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการบำบัดน้ำเสีย เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเดินระบบและบำรุงรักษาระบบฯ ประชาสัมพันธ์และรณรงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจ่ายค่าธรรมเนียม/ค่าบริการบำบัดน้ำเสีย พัฒนาต่อยอดการนำน้ำเสียและกากตะกอนกลับมาใช้ประโยชน์ และพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมให้ท้องถิ่น เพื่อถ่ายโอนภารกิจงานคืนเมื่อครบระยะเวลาตามข้อตกลงร่วม เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการต่อได้ด้วยตนเอง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ