ระหว่างประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Inter-Governmental Memorandum
of Understanding for the Establishment of the Regional Power Coordination
Centre in the Greater Mekong Subregion : IGM)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลต่อการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Inter-Governmental Memorandum of Understanding for the Establishment of the Regional Power Coordination Center in the Greatre Mekong Subregion : IGM) และเสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป
2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมอบหมายร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว และให้กระทรวงพลังงานดำเนินการต่อไปได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวตามข้อ 1 แล้ว
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมอบหมาย ลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว และให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการต่อไปได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวตามข้อ 1 แล้ว และ
4. มอบหมายให้กระทรวงพลังงานรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลต่อการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีสาระสำคัญดังนี้
1. วัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการที่เชื่อมต่อกันของระบบไฟฟ้าของประเทศสมาชิกให้มีความเป็นหนึ่งเดียวบนพื้นฐานของความยุติธรรมและโปร่งใสในการดำเนินงานของตลาดซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในอนุภูมิภาค และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวสามารถดำเนินการโดยพัฒนาให้มีความสมดุลระหว่างความหลากหลายของทรัพยากรด้านพลังงานที่มีในอาณาเขตพื้นที่ของประเทศสมาชิก ความร่วมมือทางด้านพลังงานในระยะยาว การส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการขยายขอบเขตการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าข้ามพรมแดน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนในประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
2. อำนาจหน้าที่
2.1 ประสานความร่วมมือในการจัดทำกรอบการดำเนินการพัฒนาด้านกฎระเบียบ ข้อบังคับ และด้านเทคนิค รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่ประเทศสมาชิกมีความเห็นพ้องถึงความสำคัญต่อการพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้า โดยอำนาจหน้าที่ของศูนย์ RPCC มีดังนี้ จัดทำและปรับปรุงข้อมูลการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้า พัฒนาและปรับปรุงระบบจัดเก็บข้อมูลพัฒนาและจัดให้มีกิจกรรมการพัฒนาความรู้ให้แก่บุคลากรของประเทศสมาชิก เป็นต้น
2.2 สนับสนุนและติดตามการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการด้านระบบส่งจ่ายไฟฟ้าแห่งชาติ (National Transmission System Operators : TSOs) หรือ หน่วยงานการไฟฟ้าในประเทศสมาชิกต่อการปฏิบัติการต่าง ๆ ดังนี้ จัดเตรียมหลักเกณฑ์ร่วมสำหรับใช้ในการประสานงานด้านการวางแผนระบบไฟฟ้า มาตรฐานทั่วไปทางด้านเทคนิค อำนวยความสะดวกการดำเนินการโครงสร้างระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยเฉพาะโครงการเร่งด่วน เป็นต้น
3. ลำดับความสำคัญของเอกสารที่ใช้ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของศูนย์ RPCC เอกสารที่ได้กำหนดไว้ตามลำดับสำคัญนี้ใช้ในการควบคุมดูแลการก่อตั้งและบริหารการปฏิบัติงานของศูนย์ RPCC ยกเว้นกรณีที่มีการกำหนดเอกสารเพิ่มเติมตามความเห็นชอบในระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก ดังนี้ ความตกลงระหว่างรัฐบาลให้มีกิจกรรมการซื้อขายไฟฟ้าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (The Inter — Governmental Ageement on Regional Power Trade) ซึ่งได้รับความเห็นชอบและลงนามเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 บันทึกความเข้าใจ IGM ฉบับนี้ เป็นต้น
4. โครงสร้างของศูนย์ RPCC ประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้ คณะกรรมการศูนย์ RPCC ผู้อำนวยการศูนย์ RPCC คณะทำงานด้านเทคนิคต่าง ๆ และสำนักบริหารกลางของศูนย์ RPCC
5. การเงิน งบประมาณการดำเนินงานศูนย์ RPCC ประกอบด้วยเงินที่ได้รับจากประเทศสมาชิก โดยศูนย์ RPCC สามารถรับเงินที่ได้จากการบริจาค และแหล่งอื่น ๆ สำหรับใช้ในการดำเนินงาน การลงทุนและการศึกษาวิจัย เงินที่ได้รับจากบริจาคจะต้องไม่มีผลต่อการตัดสินใจการดำเนินงานของศูนย์ RPCC
6. สิทธิพิเศษและความคุ้มกัน ศูนย์ RPCC จะมีสถานะเป็นองค์กรนานาชาติ โดยศูนย์ RPCC ผู้อำนวยการศูนย์ RPCC และเจ้าหน้าที่ศูนย์ RPCC จะได้รับสิทธิพิเศษและความคุ้มครองเท่าที่จำเป็นในการดำเนินการอย่างอิสระตามภารกิจหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้สิทธิพิเศษและความคุ้มครองตามกฎหมายในบันทึกความเข้าใจ ฯ จะระบุไว้ใน Headquarters Agreement with the host government
7. การอนุมัติและมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
7.1 IGM ฉบับนี้จะต้องได้รับการอนุมัติ และยอมรับจากรัฐบาลของแต่ละประเทศสมาชิกตามขั้นตอนการดำเนินงานตามระเบียบอย่างเป็นทางการ โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศสมาชิกจะต้องดำเนินการแจ้งผลการอนุมัติให้แก่รัฐบาลของประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทราบอย่างเป็นทางการ
7.2 IGM ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการระหว่างประเทศสมาชิกที่ได้ผ่านการอนุมัติและยอมรับในการ IGM ฉบับนี้ภายหลังจากที่ประเทศสมาชิกชาติที่ 4 ได้รับรองการอนุมัติและยอมรับใน IGM แล้ว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กรกฎาคม 2556--จบ--