บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐโตโกว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ

ข่าวการเมือง Tuesday February 10, 2015 16:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐโตโกว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้

2. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ให้ กต. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. รายงานว่า

1. การจัดทำบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือแบบใต้-ใต้ (South-South Cooperation) ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในระดับรัฐบาลและระดับประชาชนของทั้งสองประเทศ อีกทั้งยังเป็นโอกาสดีในการเพิ่มบทบาทของไทยในฐานะประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในภูมิภาคแอฟริกา นอกจากนี้การดำเนินความร่วมมือดังกล่าวยังจะเป็นช่องทางให้ไทยได้ขยายความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแอฟริกาซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบและตลาดใหม่ของภาคธุรกิจไทย และยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศด้วย

2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญระบุให้ภาคีคู่สัญญาจะต้องส่งเสริมโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน ดังนี้

2.1 แลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการฝึกอบรม

2.2 ร่วมกันส่งเสริมการศึกษาและโครงการต่าง ๆ ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

2.3 ให้ความช่วยเหลือในโครงการเฉพาะต่าง ๆ

2.4 ความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นที่ภาคีคู่สัญญาอาจตกลงและจัดการร่วมกันเป็นครั้งคราว

3. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ จัดทำขึ้นในระดับรัฐบาลโดยมีรูปแบบและถ้อยคำที่แสดงเจตนาที่จะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศแก่คู่ภาคีจึงเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนลงนาม แต่ไม่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง จึงไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่จะต้องขอรับความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมาตรา 23 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ