รายงานผลเจรจาการบินระหว่างไทย-ญี่ปุ่น

ข่าวการเมือง Tuesday April 19, 2016 18:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการของบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ฉบับลงนาม วันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 และร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของไทยและญี่ปุ่น

2. มอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป โดยให้ กต. สามารถปรับถ้อยคำตามความเหมาะสมที่ไม่กระทบกับสาระสำคัญ

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า

1. ไทยและญี่ปุ่นได้จัดทำความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างกัน ลงนามเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2496 เพื่อใช้เป็นความตกลงฉบับแม่บทในความสัมพันธ์ด้านการบินและได้จัดให้มีการพบหารือกันเป็นระยะ โดยครั้งล่าสุดได้จัดทำบันทึกการหารือ (Record of Discussions) ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 ณ กรุงเทพมหานคร ต่อมาคณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลเพื่อพิจารณาทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำมีมติรับทราบรายงานผลการเจรจาดังกล่าวแล้ว ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2556

2. บันทึกการหารือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นที่ลงนามเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 สรุปได้ ดังนี้ ประเด็น/รายละเอียดของบันทึกความเข้าใจ

ใบพิกัดเส้นทางบิน

เพิ่มใบพิกัดเส้นทางบินอีก 1 เส้นทาง คือ เส้นทาง ข โดยระบุให้เป็นเส้นทางบินแบบเปิดสามารถทำการบินไปยังจุดต่าง ๆ ในญี่ปุ่นได้ยกเว้นโตเกียว

ฝ่ายไทย

  • เส้นทาง ก จุดต่าง ๆ ในไทย-จุดต่าง ๆ ในกัมพูชา และ/หรือ ลาว และ/หรือ เมียนมา และ/หรือ เวียดนาม-มะนิลา-ฮ่องกง-เกาชุง-ไทเป-โซล-จุดต่าง ๆ ในญี่ปุ่น-จุดพ้นใด ๆ ในทั้งสองทิศทาง
  • เส้นทาง ข จุดต่าง ๆ ในไทย-จุดระหว่างทางใด ๆ – จุดต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ยกเว้นโตเกียว จุดพ้นใด ๆ ในทั้งสองทิศทาง

ฝ่ายญี่ปุ่น

  • เส้นทาง ก จุดต่าง ๆ ในญี่ปุ่น-จุดต่าง ๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่ที่จะระบุภายหลัง และ/หรือ บนเกาะฟอร์โมซา-ฮ่องกง-มะนิลา-จุดต่าง ๆ ในกัมพูชา และ/หรือ ลาว และ/หรือ เมียนมา และ/หรือ เวียดนาม-จาการ์ตา-สิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์-จุดต่าง ๆ ในไทย-จุดพ้นใด ๆ ในทั้งสองทิศทาง
  • เส้นทาง ข จุดต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ยกเว้นโตเกียว-จุดระหว่างทางใด ๆ จุดต่าง ๆ ในไทย-จุดพ้นใด ๆ ในทั้งสองทิศทาง

ความจุความถี่

  • ปรับปรุงถ้อยคำให้ชัดเจนขึ้น โดยยังคงสิทธิความจุความถี่ไว้เช่นเดิมเกี่ยวกับการกำหนดสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3 และ 4 ได้อย่างไม่จำกัด ทั้งเที่ยวบินรับขนผู้โดยสาร ผู้โดยสารผสมสินค้า และ/หรือเที่ยวบินรับขนเฉพาะสินค้า ระหว่างจุดใด ๆ ในญี่ปุ่น (ยกเว้นท่าอากาศยานฮาเนดะ) และจุดใด ๆ ในไทย ที่ทำการบินไปยัง/มาจากท่าอากาศยานนาริตะซึ่งเป็นไปตามการจัดสรรเวลาเข้า/ออกที่ท่าอากาศยานนาริตะ
  • เพิ่มสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 ได้โดยไม่จำกัดสำหรับเส้นทางบินใหม่ (เส้นทางบิน ข)

เสรีภาพที่ 5

  • เพิ่มสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 ได้โดยไม่จำกัดสำหรับเส้นทางบินใหม่ (เส้นทางบิน ข)

การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน (Code Sharing)

  • ปรับปรุงข้อบทว่าด้วยการทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันเพื่อให้สอดคล้องกับร่างมาตรฐานของไทยและญี่ปุ่น

ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ

  • ความปลอดภัยการบิน
  • แยกข้อบทเรื่องความปลอดภัยการบินออกจากข้อบทเรื่องการรักษาความปลอดภัยการบิน เพื่อให้มีความรัดกุมและชัดเจนมากขึ้น
  • การรักษาความปลอดภัยการบิน
  • แยกข้อบทเรื่องการรักษาความปลอดภัยการบินเป็นอีกข้อบทหนึ่ง โดยมีเนื้อหาเป็นไปตามร่างมาตรฐานที่ประเทศไทยจัดทำไว้กับประเทศต่าง ๆ

3. คค. เห็นว่าการปรับปรุงสิทธิการบินต่าง ๆ จะทำให้สายการบินของทั้งสองฝ่ายมีความยืดหยุ่นในการวางแผนการให้บริการ และเปิดโอกาสให้สามารถเพิ่มบริการระหว่างกันได้มากขึ้น ส่งผลให้การขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศทั้งสองขยายตัวเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสาร ธุรกิจการขนส่งสินค้า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การค้าและการบริการระหว่างทั้งสองประเทศให้เจริญเติบโตอย่างมีศักยภาพ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 เมษายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ