การประชุมผุ้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง

ข่าวการเมือง Tuesday June 5, 2018 17:09 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การประชุมผุ้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 8

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2019-2023) [ACMECS Master Plan (2019-2023)] และร่างปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ของการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี- เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 8 (8th ACMECS Summit) หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวทั้งสองที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

2. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 และเป็นผู้ร่วมให้การรับรองแผนแม่บทฯ และร่างปฏิญญากรุงเทพฯ

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. รายงานว่า

ประเทศไทยในฐานะประธาน ACMECS จะจัดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 (8th ACMECS Summit) ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 16 มิถุนายน 2561 ภายใต้หัวข้อ “การก้าวสู่ประชาคมแม่โขงที่เชื่อมโยงกัน” (Towards an Integrated and Connected Mekong Community) โดยที่ประชุมฯ จะมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้

1. ร่างปฏิญญากรุงเทพของการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ ของประเทศสมาชิกที่จะใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของ 5 ประเทศสมาชิก เช่น

1) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ACMECS ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียนและของโลก เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6-8 ต่อปี

2) การเมืองที่มีเสถียรภาพและความปรองดองทางสังคม มีความสามัคคีและความสงบ

3) ภูมิศาสตร์ที่ตั้งของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการเป็นศูนย์กลางทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ซึ่งเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก การมีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม และความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

ร่างปฏิญญาฯ จะมีแผนแม่บท ACMECS เป็นแนวทาง (roadmap) ในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างการปฏิบัติ การใช้ประโยชน์จากศักยภาพทางเศรษฐกิจของ ACMECS เพื่อให้อนุภูมิภาคในกลุ่ม ACMECS เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานและมูลค่าของภูมิภาคและของโลก เพื่อรองรับกับความท้าทายต่าง ๆ ผ่านการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรมเพื่อให้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็น “ศูนย์กลางแห่งการเจริญเติบโต” ที่มีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการบูรณาการของอาเซียนในภาพรวม

2. แผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2019-2023) เป็นแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค

ที่จะใช้กำหนดแนวทางการดำเนินการระหว่างประเทศสมาชิก ACMECS เพื่อให้การดำเนินการสอดรับกับแผนแม่บทอาเซียนด้านความเชื่อมโยง ค.ศ. 2025 รวมถึงวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ. 2030 มีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 วิสัยทัศน์ คือ “สร้าง ACMECS ที่เชื่อมโยงภายในปี ค.ศ. 2023”

2.2 แนวทางการดำเนินการภายใต้แผนแม่บทฯ ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ดังนี้

1) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค (Seamless Connectivity)

2) การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized ACMECS Economies)

3) การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS)

2.3 ระยะเวลาในการดำเนินการ 5 ปี (ค.ศ. 2019-2023) ทั้งนี้ ในระยะแรกจะมุ่งเน้นโครงการส่งเสริมความเชื่อมโยงตามระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) และแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) ทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ดิจิทัล และพลังงาน (hardware connectivity) โครงการเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การค้า การลงทุน (software connectivity)

2.4 แผนแม่บทฯ จะมีเอกสารภาคผนวก (Annex) ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plans) ที่ประเทศสมาชิกสามารถปรับเพิ่มหรือแก้ไขต่อไป (living document) โดยมี “คณะกรรมการประสานงาน” (Coordinating Committees) กำกับดูแลการดำเนินโครงการสาขาความร่วมมือต่าง ๆ ในแต่ละเสา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มิถุนายน 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ