รายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2561 (อว.)

ข่าวการเมือง Tuesday November 19, 2019 17:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอรายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2561 ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (คณะกรรมการฯ) ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 แล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. การดำเนินการตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 คณะกรรมการฯ และสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สพสว.) ได้ดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองประกอบการใช้บังคับการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการรับแจ้งและรับคำขอใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และทยอยจัดทำระบบการให้บริการแบบออนไลน์ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ และมีการประกาศนโยบายการกำกับดูแลและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนางานด้านการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นไปอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

2. ข้อมูลการดำเนินการในปีงบประมาณ 2561 มีการจดแจ้งสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 297 แห่ง จาก 56 องค์กร มีผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์ จำนวน 7,799 คน มีการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์หลากหลายชนิด เช่น หนู ไก่ ยุง เป็นต้น โดยในช่วงปี 2561 มีการใช้สัตว์มากกว่า 1,000,000 ตัว ซึ่งมาจากแหล่งผลิตสัตว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

3. ปัญหาและอุปสรรคในปีงบประมาณ 2561 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 ได้โดยสมบูรณ์เนื่องจากกฎกระทรวงสำคัญที่จะต้องใช้ประกอบการบังคับใช้กฎหมายนั้นยังรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้ จากการดำเนินการและรวบรวมข้อมูลพบว่าสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์มีจำนวนมากแต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน มีสัตวแพทย์ไม่เพียงพอ และสัตว์ทดลองยังมีปัญหาในด้านคุณภาพ ชนิด และปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ งานวิจัยที่จะนำไปสู่นวัตกรรมยังมีน้อย อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลยังขาดความเข้มแข็งและบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์

4. การพัฒนาการดำเนินการในระยะต่อไป ประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนาเพื่อให้รองรับต่อการพัฒนาประเทศ ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพของสัตว์ทดลอง การส่งเสริมการผลิตสัตว์ทดลองเพื่อทดแทนการนำเข้า การสนับสนุนให้มีหน่วยงานกลางเพื่อตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานพันธุกรรมและมาตรฐานสุขภาพ การพัฒนาสถานที่เลี้ยงและใช้สัตว์ให้ได้มาตรฐาน การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของสถานที่ดำเนินการ (คกส.) และการสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานกลางที่กำกับดูแลพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ