ผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน ครั้งที่ 1/2563

ข่าวการเมือง Tuesday March 17, 2020 18:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน ครั้งที่ 1/2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะกรรมการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

สศช. รายงานว่า

1. คณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2563

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 โดยสรุปผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้

มาตรการ

1) มาตรการด้านการเงินการคลัง ประกอบด้วย 3 มาตรการย่อย ได้แก่

  • การหักค่าใช้จ่าย 2.5 เท่า สำหรับรายจ่ายเพื่อการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563
  • การยกเว้นภาษีอากรสำหรับการนำเข้าเครื่องจักรจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
  • การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการลงทุนผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้า วงเงิน 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการฯ นี้ จะสามารถกระตุ้นการลงทุนได้ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท

มติที่ประชุม

มอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กค.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มีความครอบคลุมปัจจัยการประกอบธุรกิจอย่างครบถ้วน ไม่เฉพาะการจัดหาเครื่องจักร และควรผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมลงทุนกับโครงการต่างๆ ของชุมชนพื้นที่ด้วย

มาตรการ

2) มาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่

  • มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดใหญ่ โดยขยายสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเงินได้ ร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี สำหรับการลงทุนในปี 2563 และ 2564 ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่มากกว่ามาตรการ Thailand Plus
  • มาตรการสร้างความเชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจฐานราก โดยให้เอกชนที่ให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยกำหนดวงเงินยกเว้นภาษีฯ ร้อยละ 120 ของเงินช่วยเหลือ

มติที่ประชุม

มอบหมายให้

  • สกท. เร่งนำเสนอมาตรการฯ ให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนต่อไป
  • กระทรวงมหาดไทยพิจารณาทบทวนกฎหมายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ อาทิ การถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น
มาตรการ

3) การเร่งรัดการลงทุนภาครัฐ ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่

  • การเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ปี พ.ศ. 2563 – 2564 ได้แก่

โครงการ

โครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ จำนวน 16 โครงการ วงเงิน 345,367 ล้านบาท

การดำเนินการ

  • มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบเร่งรัดการดำเนินการผลักดันการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
  • มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) และกรมบัญชีกลาง พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน เพื่อเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาต่อไป

โครงการลงทุนที่เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในปี 2563 จำนวน 10 โครงการ วงเงิน 203,080 ล้านบาท

การดำเนินการ

ให้รัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันทีที่ได้รับอนุมัติ รวมทั้งให้เตรียมแผนบริหารโครงการโดยเร่งผูกพันสัญญาในส่วนที่ใช้เงินรายได้ไปก่อน

โครงการที่ควรเร่งรัดในปีงบประมาณ 2563 – 2564 จำนวน 35 โครงการ วงเงิน 642,011 ล้านบาท

การดำเนินการ

ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเตรียมความพร้อมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณา และให้ สคร. จัดประชุมเพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน

  • โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม วงเงินลงทุนปี 2562-2564 จำนวน 44 โครงการ วงเงิน 1,794,774 ล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการเตรียมความพร้อมโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ทันที และเร่งรัดกรอบระยะเวลาของโครงการที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีให้เร็วขึ้น รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเร่งนำเสนอโครงการที่เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
  • การลงทุนด้านพลังงาน ให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนภายในครึ่งปีแรกของปี 2563 และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน ในการผลักดันการลงทุนสาขาพลังงานที่จะส่งผลกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เช่น การลงทุนในสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น
  • การจัดการทรัพยากรน้ำ ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันโครงการด้านน้ำขนาดเล็กให้สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว เพื่อกระตุ้นการลงทุนระยะสั้นระหว่างที่รอรับการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ๆ

มติที่ประชุม

มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแผนงาน/ โครงการทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เร่งรัดการดำเนินงานตามความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ และให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนแหล่งเงินงบประมาณตามความเหมาะสมและจำเป็นต่อไป

มาตรการ

4) แผนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของประเทศไทย ในระยะที่ผ่านมามีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) จำนวน 13 ฉบับ และอยู่ระหว่างการเจรจาจำนวน 5 ฉบับ ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับคู่เจรจาเพิ่มสูงขึ้น โดยอันดับ 1 คือ FTA อาเซียนที่มีมูลค่าการค้ารวมเติบโตถึงร้อยละ 855.3 นับจากที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2536 ในส่วนของการเตรียมการเจรจากรอบใหม่ๆ เช่น Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) และการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-EU กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ได้ดำเนินการศึกษาประเมินผลดี ผลเสีย แนวทางรองรับปรับตัว รวมถึงหารือเพื่อระดมความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทั่วประเทศ และอยู่ระหว่างการเสนอผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมทั้ง อยู่ระหว่างการหารือถึงแนวทางปรับปรุง/พัฒนากลไกการช่วยเหลือตลอดจนพิจารณาเกี่ยวกับการขอจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตและผู้ประกอบการในประเทศ

มติที่ประชุม

รับทราบผลการดำเนินงานของ พณ. และมอบหมายให้ พณ. ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการเจรจาในความตกลงการค้า CPTPP ไทย-ฮ่องกง และ ไทย – EU ตลอดจนสนับสนุนให้มีกองทุนรองรับผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรี เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยแก้ไขเยียวยาและตอบโจทย์ข้อกังวลของผู้ได้รับผลกระทบ และขอให้หน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนด้วย รวมทั้งพิจารณาให้ความสำคัญกับการจัดทำความตกลงทางการค้าในรูปแบบ Partnership ซึ่งผลสำเร็จของความตกลง จะส่งผลต่อการยอมรับของประเทศคู่ค้าและบทบาทประเทศไทยในเวทีโลกต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ