สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ครั้งที่ 1/2563

ข่าวการเมือง Tuesday March 17, 2020 19:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19) เสนอ สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ดังนี้

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 1/2563 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารของส่วนราชการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) มีแนวโน้มการแพร่กระจายที่เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องหามาตรการรองรับ โดยทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อบูรณาการความร่วมมือเพื่อหาแนวทางการรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและขอขอบคุณทุกส่วนราชการที่ร่วมมือในการประสานงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ในการนี้ รัฐมนตรีที่รับผิดชอบในด้านต่าง ๆ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน ด้านข้อมูล การชี้แจงและการรับเรื่องร้องเรียน ด้านการต่างประเทศ ด้านมาตรการป้องกัน และด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ได้รายงานผลการดำเนินงานและแผนมาตรการเตรียมการรองรับฯ ด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ด้านการสาธารณสุข

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข : กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่อนุมัติการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะยุติ และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันดำเนินมาตรการต่าง ๆ อาทิ กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยที่ร่วมดำเนินมาตรการ State Quarantine การสนับสนุนกำลังคนและอาสาสมัคร โดยได้นำเสนอประเด็นต่อที่ประชุม ดังนี้

1.1 สถานการณ์ในประเทศไทย ณ วันที่ 16 มีนาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อสะสม 114 คน ที่

สำคัญ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 64 คน สามารถจำแนกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ คนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ผู้สัมผัสกับชาวต่างชาติ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยรายก่อนหน้าผู้ที่เกี่ยวข้องกับสนามมวย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง

1.2 มาตรการดำเนินการ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินตามแนวทาง ดังนี้

มาตรการ

1. การป้องกันการแพร่ระบาด

แนวทาง/การดำเนนิงาน

1.1 การหยุดนำเชื้อเข้าจากต่างประเทศ โดยผู้ที่เดินทางเข้ามาจะต้องมีใบรับรองแพทย์และกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด

1.2 การหยุดการส่งออกเชื้อไวรัสออกนอกกรุงเทพฯ ด้วยการควบคุมการเดินทางของประชาชนให้น้อยที่สุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือเปลี่ยนแปลงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ หรืองดการจัดงาน

1.3 การหยุดการแพร่ระบาดเชื้อ โดยขอให้งดกิจกรรมทุกประเภท อาทิ การแข่งขันกีฬา งานบันเทิง งานอบรมสัมมนา การแสดงสินค้า และให้สถานบันเทิงเปิดให้บริการไม่เกิน 20.00 น. และให้การจัดกิจกรรมต่าง ๆ จัดที่นั่งหรือที่ยืนห่างกันไม่ต่ำกว่า 1 เมตร

1.4 หยุดการเดินทาง หรือลดการเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯ โดยเสนอให้ดำเนินการปิดสถานศึกษาประเภทโรงเรียนกวดวิชา หรือสถาบันติวเตอร์ และลดความแออัดของระบบขนส่งมวลชน รวมถึงพิจารณาการทำงานที่บ้าน (Work at Home)

2. การควบคุมและการจำกัดวงการแพร่ระบาด

แนวทาง/การดำเนนิงาน

2.1 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคในระดับพื้นที่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อย่างเคร่งครัด

2.2 ให้ อสม. ดำเนินการดูแล ติดตาม และรายงานการกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ

3. การเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล

แนวทาง/การดำเนนิงาน

เตรียมความพร้อมของเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน

4. การสื่อสารความเสี่ยงและการสื่อสารสาธารณะ

แนวทาง/การดำเนนิงาน

สร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้กับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ เว็บไซต์กรมควบคุมโรค www.ddc.moph.go.th สายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 รวมทั้งร่วมกันสื่อสารสถานการณ์และวิธีการปฏิบัติตัวสำหรับบุคคล ครอบครัว สถานที่ทำงาน ชุมชน และสังคม

1.3 ความพร้อมด้านการสาธารณสุขของไทย

(1) ด้าน Surge Capacity ของจำนวนเตียง ผู้ป่วย COVID – 19

โรงพยาบาลสังกัด กทม.

Isolation room 237

AIIR 136

Cohort Ward 143

โรงพยาบาลสังกัด ต่างจังหวัด

Isolation room 2,444

AIIR 1,042

Cohort Ward 3,061

(2) การบริหารจัดการ Surgical Mask สธ. ได้รับการจัดสรร 1,000,000 ชิ้นต่อวัน แบ่งเป็นการจัดสรรให้แก่โรงพยาบาลภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 500,000 ชิ้น โรงพยาบาลภายนอกกระทรวงสาธารณสุข 70,000 ชิ้น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย/คณะทันตแพทย์ 100,000 ชิ้น โรงพยาบาลเอกชน/คลินิกเอกชน 200,000 ชิ้น โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร 80,000 ชิ้น และจัดสรรตามมาตรการ Quarantine 50,000 ชิ้น

(3) จำนวนบุคลากรสาธารณสุข

บุคลากรแพทย์

รพ.รัฐ 29,449

รพ.เอกชน 7,711

รวม 37,160

บุคลากรพยาบาล

รพ.รัฐ 126,666

รพ.เอกชน 24,905

รวม 151,571

สำหรับการดำเนินการจัดหาหน้ากากอนามัย ประเภท N95 และ PPE กระทรวงสาธารณสุขจะต้องจัดหาเพิ่มเติม 1,596,525 ชิ้น (หน้ากาก N95) และ 1,932,052 ชิ้น (ชุดป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (PPE) ขณะที่กำลังการผลิตและสำรองยา กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างจัดหายาเพิ่มเติมในยาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 40,000 เม็ด และยาเรมเดซิเวียร์ จำนวน 220 หลอด

2. ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน

รัฐบาลมีมาตรการกำกับดูแลการกระจายหน้ากากให้เป็นไปอย่างทั่วถึง ชดเชยส่วนเกินราคาหน้ากากอนามัยให้แก่โรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมราคาสินค้าการควบคุมราคาหน้ากากอนามัย เร่งรัดการผลิตหน้ากากผ้า หรือหน้ากากทางเลือกเพื่อลดปริมาณความต้องการหน้ากากอนามัย นำไขปาล์มเพื่อเป็นส่วนผสมในการทำเจลล้างมือ ตลอดจนขอให้ด่านศุลกากร เคร่งครัดการตรวจสอบการส่งออกสินค้ากับใบอนุญาตให้ตรงกัน นอกจากนี้ ได้กำหนดมาตรการใน 4 เรื่อง คือ การแจ้งข้อมูล การควบคุมการส่งออก การปันส่วน และการควบคุมราคาจำหน่าย ซึ่งได้มีการปรับเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเพื่อให้สามารถบริหารจัดการหน้ากากได้อย่างมีประสิทธิภาพตามสถานการณ์ มีการติดตามดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการกักตุนสินค้า และไม่ให้จำหน่ายในราคาสูงเกินสมควร

แนวทางการบริหารจัดการหน้ากาก เน้นตอบสนองความต้องการ โดยสร้างพอเพียงให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการ State of Quarantine และส่งเสริมให้ประชาชนใช้หน้ากากทางเลือก เพื่อลดความต้องการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์

3. ด้านข้อมูลการชี้แจงและการรับเรื่องร้องเรียน

รัฐบาลได้จัดให้มีศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID - 19) โดยดำเนินการ เปิดรับเรื่องร้องเรียนและตอบข้อซักถามประชาชน จัดประชุมทุกวันในเวลา 09.00 น. และจัดแถลงข่าวทุกวันในเวลา 14.00 น. โดยถ่ายทอดสดทาง NBT2HD และสื่อออนไลน์ พร้อมทั้งจัดทำ Viral Clip ด้วย ซึ่งในการแถลงข่าวดังกล่าวได้มีการเชิญรัฐมนตรีและหน่วยงานที่รับผิดชอบมาร่วมแถลงด้วย การแถลงข่าวดำเนินการมาแล้ว จำนวน 6 ครั้ง ชี้แจงประชาชนไปแล้ว 27 ประเด็น ดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ตลอดจนได้กำหนดให้มีการยกระดับการสื่อสารกับประชาชนเป็น COVID CHANEL โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง

4. ด้านการต่างประเทศ

ในขณะนี้นานาชาติได้มีมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อการผ่านแดนของคนไทย โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 3 มาตรการ ดังนี้

1) ห้ามคนไทยเดินทางภายใน 14 วัน

2) ห้ามประชากรจากกลุ่มประเทศอาเซียนเดินทางเข้าประเทศ

3) ห้ามคนไทยเข้าโดยเด็ดขาด

รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือนักเรียนแลกเปลี่ยนในโครงการ AFS จากประเทศอิตาลี ซึ่งในขณะนี้ได้เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ปัจจุบันมีประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการต่างประเทศจึงขอหารือที่ประชุมพิจารณาความจำเป็นและความเหมาะสมในการดำเนินมาตรการเฉพาะกับประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยสะสมมากและผู้ป่วยรายใหม่อย่างไรหรือไม่

เมื่อพิจารณาแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศต่าง ๆ เห็นว่า มาตรการที่หนักแน่นและครอบคลุมเท่านั้นที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และประเทศต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนในประเทศและมีมาตรการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเข้มข้น ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศกำลังประสานความร่วมมือในการควบคุมการแพร่ระบาดในด้านต่าง ๆกับสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน

5. ด้านมาตรการป้องกัน

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำเสนอมาตรการป้องกัน ดังนี้

1) การกักกัน กระทรวงสาธาณสุขได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการกักกันควบคุมโรคในระดับพื้นที่ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2563 โดยดำเนินการ ได้แก่ (1) ระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน มีสาธารณสุขอำเภอเป็นเลขานุการ (2) ระดับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีนายเทศมนตรี นายกองค์บริหารส่วนตำบบ (อบต.) เป็นประธาน มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมตำบล (รพ.สต.) เป็นเลขานุการ (3) ระดับหมู่บ้าน มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธาน อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เป็นเลขานุการ และมีแนวทางปฏิบัติในการกักกัน ณ ที่พักสำหรับผู้เดินทางมาจาก4 ประเทศเสี่ยง แบ่งเป็น กลุ่มผู้เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ (อยู่ระหว่างกักกัน 1,324 คน) และกลุ่มผู้เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงอีก 3 ประเทศ (อยู่ระหว่างกันกัน 824 คน) รวมถูกกักกัน 2,144 ราย

2) การจัดทำหน้ากากอนามัยทางเลือก (หน้ากากผ้า)

ปัจจุบันมีการคาดการณ์ยอดการผลิตหน้ากากผ้าทั้งสิ้น 52 ล้านชิ้น จำแนกเป็น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการผลิตและแจกจ่ายแล้ว 3,584,986 ชิ้น (ณ วันที่ 15 มี.ค.63) จากเป้าหมาย 50 ล้านชิ้น กระทรวงสาธารณสุข โดย อสม. 1 ล้านชิ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการของบอนุมัติงบกลาง เพื่อการผลิต และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม1 ล้านชิ้น อยู่ระหว่างการผลิต ในการนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะมอบหมายให้ภาคอุตสาหกรรมผลิตหน้าอนามัยทางเลือกเพิ่มเติม จำนวน 10 ล้านชิ้น

3) การเตรียมรองรับผู้ติดเชื้อของกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร

ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการเขตเป็นหัวหน้าทีมในการดำเนินการ โดยพื้นที่กรุงเทพฯ มีประชาชนที่อยู่ในมาตรการ Local Quarantine และ Home Quarantine ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง จำนวน 443 ราย รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อในอนาคต อาทิ การเตรียมเรือนพักของโรงพยาบาลบางขุนเทียน (มีอาคารผู้ป่วยในที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 74 คน และหากสถานการณ์เข้าอยู่ระยะที่ 3 สามารถปรับเป็นโรงพยาบาลเฉพาะโรคที่สามารถรองผู้ป่วยได้ 273 คน) ศูนย์ฝึกอบรมหนองจอก (รองรับได้ 50 คน) ค่ายลูกเสือ (รองรับได้ 50 คน) และเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลในสังกัด 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญราษฎร์ประชารักษ์ และโรงพยาบาลสิรินธร

6. ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รายงานมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

1) มาตรการระยะที่ 1 เพื่อดูแลและเยียวยาประชาชนทุกกลุ่ม ประกอบด้วย 3 มาตรการ ดังนี้

(1) มาตรการด้านการเงิน ได้แก่ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 150,000 ล้านบาท พักเงินต้น/ลดดอกเบี้ย/ขยายเวลาชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ โดย ธปท. และส่งเสริมการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคม

(2) มาตรการด้านภาษี ได้แก่ ลดอัตราภาษี เพื่อเสริมสภาพคล่อง หักรายจ่ายดอกเบี้ยสำหรับโครงการ Soft Loan และคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ

(3) มาตรการด้านอื่น ๆ ได้แก่ การบรรเทาค่าน้ำค่าไฟ คืนเงินประกันการใช้ไฟ และลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม

2) มาตรการระยะที่ 2 อยู่ระหว่างเตรียมการ อาทิ กค. เริ่มตั้งศูนย์รับเรื่องทั่วประเทศ ร่วมกับธนาคารออมสิน เปิดบริการออนไลน์เพื่อรับข้อร้องเรียนและรับข้อเสนอแนะ ดูแลกลไกและเสถียรภาพของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนทุกกลุ่ม

  • รมว.อก. รายงานการยกเลิกค่าธรรมเนียมให้แก่เจ้าของกิจการโรงงาน

มติที่ประชุม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการ/แผนงาน/โครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ