รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2562

ข่าวการเมือง Tuesday May 5, 2020 17:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 28/7 ที่บัญญัติให้ กนง. รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกหกเดือน โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. เป้าหมายนโยบายการเงิน ในปี 62 ได้กำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ร้อยละ 2.5 ? 1.5 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง ส่วนในปี 63 ได้กำหนดเป้าหมาย นโยบายการเงินใหม่ โดยใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1 - 3

2. การประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงินและแนวโน้ม

2.1 ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้ม

เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 ต่ำลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 62 ที่ร้อยละ 2.7 จากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลง การส่งออกมีทิศทางปรับดีขึ้นในบางหมวดสินค้า การส่งออกบริการปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกหมวดการใช้จ่าย ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง

เศรษฐกิจไทยในปี 63 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2.8 เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าและภาคการท่องเที่ยวของไทย

2.2 ภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้ม ในช่วงครึ่งหลังปี 62 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.50 ลดลงจากครึ่งแรกของปี ที่ร้อยละ 0.92 โดยอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงิน ซึ่งเกิดจาก ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับลดลง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.71 ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.46 ลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปีที่ร้อยละ 0.58 เนื่องจากราคาอาหารสำเร็จรูปที่ลดลง ในปี 63 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 0.7

2.3 เสถียรภาพระบบการเงิน ระบบการเงินของไทยมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่

(1) ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ลดลงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

(2) แนวโน้มพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น และ (3) ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์

3. การดำเนินนโยบายการเงิน

3.1 นโยบายอัตราดอกเบี้ย ในช่วงครึ่งหลังของปี 62 กนง. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.75 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการระดมทุนผ่านตลาดการเงิน และสถาบันการเงินผ่อนคลายมากขึ้น

3.2 นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน กนง. ให้ความสำคัญกับการติดตามและดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนเกินไป โดยได้สนับสนุนให้ ธปท. ดำเนินการต่าง ๆ เช่น กำหนดมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น ผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก และดำเนินการเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น การส่งเสริมการลงทุนในประเทศของภาครัฐและภาคเอกชน

3.3 การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ให้ความสำคัญกับการดูแลและป้องกันความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน โดยการลดความเสี่ยงในระยะต่อไปจำเป็นต้องได้รับการดูแลด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มาตรการกำกับดูแลรายสถาบันการเงิน และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน

3.4 การสื่อสารนโยบายการเงิน กนง. ดำเนินนโยบายการเงินโดยติดตามพัฒนาการของข้อมูล และให้ความสำคัญกับการสื่อสารเชิงรุกและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้รับสารกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งมีการเผยแพร่บทวิเคราะห์เชิงลึกในรายงานนโยบายการเงินด้วย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 พฤษภาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ