ร่างแผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565)

ข่าวการเมือง Tuesday August 18, 2020 18:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) (ร่างแผนพัฒนาฯ) และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนร่างแผนพัฒนาฯ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

วธ. รายงานว่า

1. จากสภาพการณ์ของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้กระบวนการเรียนรู้ของคนในสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป สื่อกลายเป็นแหล่งเรียนรู้แหล่งใหม่ที่สามารถกระตุ้นการรับรู้และ ดึงดูดความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเด็กและเยาวชน โดยจะเห็นได้ว่ารูปแบบและเนื้อหารายการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนในสื่อหลายประเภทยังคงมีไม่เพียงพอ รวมถึงการรู้เท่าทันสื่อ ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งในหมู่ประชาชนทั่วไป จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาที่กระทบต่อสังคมในมิติทางวัฒนธรรม มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางอาชญากรรม และมิติทางด้านความมั่นคง ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของสื่อซึ่งมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในสังคมยุคปัจจุบัน และมีอิทธิพลที่ส่งผลกระทบต่อค่านิยม วิถีชีวิต และวัฒนธรรม จึงได้มีการประกาศ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ พ.ศ. 2551” เพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการดำเนินงานด้านพัฒนาสื่อให้มีคุณภาพอย่างสร้างสรรค์และไม่เป็นภัยต่อสังคม

2. โดยที่ข้อ 9 (1) ของระเบียบดังกล่าว กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ (คณะกรรมการฯ) มีอำนาจและหน้าที่ในการเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการดำเนินงานด้านพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อคณะรัฐมนตรี ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการจัดทำและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จัดทำร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2560 – 2564 (ร่างยุทธศาสตร์ฯ) โดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะต่อร่างยุทธศาสตร์ฯ แล้ว ซึ่งในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ฯ และได้ส่งร่างยุทธศาสตร์ฯ ไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 (เรื่อง แนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี)

3. สศช. ได้พิจารณาร่างยุทธศาสตร์ฯ ในเบื้องต้นแล้วเห็นว่า วธ. จะต้องพิจารณาความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ ดังนั้น วธ. จึงได้ปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ฯ และได้ ปรับชื่อร่างยุทธศาสตร์ฯ เป็น “ร่างแผนพัฒนาฯ” และได้ส่งร่างแผนพัฒนาฯ ให้ สศช. เพื่อเสนอสภาพัฒนาฯ พิจารณาอีกครั้ง

4. สภาพัฒนาฯ ได้พิจารณาร่างแผนพัฒนาฯ แล้ว ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ

5. ร่างแผนพัฒนาฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

วิสัยทัศน์ สื่อมีคุณภาพสูงภายใต้หลักแห่งคุณธรรมและจริยธรรม ประชาชนใช้สื่อ อย่างสร้างสรรค์ รู้เท่าทันสื่อ ก่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้บนพื้นฐานวัฒนธรรมที่ดีงาม

พันธกิจ 1) ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ 2) ส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายเกิดการรู้ เท่าทันสื่อ 3) พัฒนากลไกการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และ 4) สนับสนุนการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย

เป้าหมาย เช่น ผู้ผลิตสื่อ : มีจริยธรรมและมีผลผลิตสื่อที่มีความปลอดภัยและสร้างสรรค์หรือส่งเสริมให้เกิดสื่อเชิงนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น ประชาชนทุกกลุ่ม : มีความรู้เท่าทันสื่อ มีจริยธรรมและ ความรับผิดชอบในการสื่อสาร มีทักษะ และพฤติกรรมในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ และสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสื่อที่ไม่เหมาะสมได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และคนพิการ

ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสนับสนุนการผลิตและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ผลิตสื่อมีจริยธรรม มีความรู้ความเข้าใจ และมีความรับผิดชอบในการผลิตและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยจะมีการจัดทำโครงการ เช่น โครงการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านกฎหมายการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในรูปแบบอินโฟกราฟิก [งบประมาณจำนวน 0.42 ล้านบาท กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ]
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมความรู้เท่าทันสื่อ พฤติกรรมการใช้สื่อเชิงสร้างสรรค์ เฝ้าระวัง และตรวจสอบสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน มีความรู้เท่าทันสื่อ ตลอดจนมีทักษะและพฤติกรรมในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ และสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสื่อที่ไม่เหมาะสมได้ โดยจะมีการจัดทำโครงการ เช่น โครงการพัฒนาชุดกิจกรรมการสื่อสารและการเรียนรู้ เรื่อง รู้เท่าทันสื่อด้านสุขภาพในกลุ่มเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย : เด็กและเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบ [งบประมาณจำนวน 5 ล้านบาท โดยมีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ]
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 การบูรณาการกลไกการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างการ มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนผ่านการสื่อสารสาธารณะ เพื่อให้เกิดกลไกการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเครือข่ายวัฒนธรรมตลอดจนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานในรูปแบบอื่น ๆ โดยจะมีการจัดทำโครงการ เช่น โครงการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จังหวัด จำนวน 76 จังหวัด (งบประมาณจำนวน 2.50 ล้านบาท โดยมี วธ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ)
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาและบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัย มีกลไกในการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ โดยจะมีการจัดทำโครงการ เช่น โครงการศูนย์ปฏิบัติการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ (1765 สายด่วนวัฒนธรรม) (งบประมาณจำนวน 14.10 ล้านบาท โดยมี วธ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ)

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณมีความเห็นเพิ่มเติมโดยเห็นควรให้ วธ. ดำเนินการตรวจสอบโครงการและหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนอย่างถูกต้องตามข้อเท็จจริง เพื่อให้ตรงกับภารกิจที่จะดำเนินการจริงอย่างเคร่งครัด และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินโครงการ เห็นสมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึงความครอบคลุมของงบประมาณ โดยตรวจสอบกรอบวงเงินและแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินการให้ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งการใช้จ่ายต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่า และประหยัด พิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ ผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิภาพของหน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นตามแผนพัฒนาดังกล่าวเห็นสมควรให้ใช้จ่ายจากงบประมาณของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นลำดับแรก ส่วนกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่าย ก็เห็นสมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 สิงหาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ