การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม

ข่าวการเมือง Tuesday August 18, 2020 19:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อความต้องการ โดยภาระงบประมาณสำหรับการชดเชยความเสียหายในอัตราไม่เกินร้อยละ 16 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกัน กรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 9,120 ล้านบาทนั้น เห็นสมควรให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ ขอให้ บสย. ใช้เงินรายได้จากค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อของโครงการก่อน หากไม่เพียงพอจึงขอรับจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

นอกจากนี้ เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) อย่างทั่วถึง คณะรัฐมนตรีมีมติห็นชอบการปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) วงเงิน 20,000 ล้านบาท การปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างทั่วถึง การขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) วงเงิน 10,000 ล้านบาท และการปรับปรุงและขยายเวลาดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และดำเนินการด้วยความรอบคอบ โปร่งใส และระมัดระวัง รวมถึงการดำเนินการตามข้อ 2.-5. จะต้องอยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบไว้เดิมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางการเงิน อันจะก่อให้เกิดภาระต่อรัฐบาลในอนาคต ประกอบกับในการดำเนินการดังกล่าว เห็นควรที่กระทรวงการคลังจะได้กำหนดเพดานอัตราการให้สินเชื่อตามกลุ่ม/ประเภท รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์กำกับดูแลด้านกระบวนการสินเชื่อ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องอย่างครอบคลุม เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยง ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นตาก NPLs ซึ่งรัฐบาลจะต้องรับภาระชดเชย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางการเงิน อันจะก่อให้เกิดภาระต่อรัฐบาลในอนาคต อีกทั้งเพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการและโครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นควรที่กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการและโครงการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในโอกาสแรก รวมทั้งจัดทำประมาณการรายได้เพื่อกำหนดไว้ในแผนการคลังระยะปานกลางให้ถูกต้องครบถ้วน และใช้เป็นกรอบในการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของประเทศ ตลอดจนติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์และรายงานการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญ

กระทรวงการคลังเสนอการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส

1.1 วัตถุประสงค์: เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) ได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอตามความต้องการ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และเกิดความคล่องตัวในการอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ตาม พ.ร.ก. Soft Loan

1.2 กลุ่มเป้าหมาย: ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม พ.ร.ก. Soft Loan แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft Laon

1.3 ระยะเวลาดำเนินงาน: 1 ปี นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ หรือระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้สถาบันการเงินกู้ยืมตาม พ.ร.ก. Soft Loan

1.4 วิธีดำเนินการ: บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อวงเงินโครงการรวม 57,000 ล้านบาท ระยะเวลาการค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 8 ปี โดยการค้ำประกันจะเริ่มต้นในปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการ SMEs แต่ละรายได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft Loan และ บสย. จะเริ่มคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี เมื่อเริ่มการค้ำประกันในต้นปีที่ 3 ทั้งนี้ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการไม่เกินร้อยละ 30

1.5 งบประมาณ: การดำเนินโครงการดังกล่าว บสย. จำเป็นต้องขอรับการชดเชยความเสียหายตามที่เกิดขึ้นจริงเป็นจำนวนเงิน 9,120 ล้านบาท โดยเป็นค่าชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยในอัตราไม่เกินร้อยละ 16 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกัน (ร้อยละ 16*57,000 ล้านบาท) ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่ บสย. จะไม่สามารถบริหารสภาพคล่องเพื่อจ่ายชดเชยความเสียหายให้กับสถาบันการเงินได้ตามกำหนด ดังนั้น สำนักงบประมาณควรจัดสรรงบประมาณชดเชยตามความรับผิดชอบในการจ่ายค่าประกันชดเชยตามรายละเอียดโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส

2. การปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19)

2.1 มติคณะรับมนตรีที่เกี่ยวข้อง

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนที่มีรายได้ประจำแต่มีรายได้ลดลงหรือขาดรายได้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19 วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้เงินไม่เกิน 3 ปี โดยรับคำขอกู้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2563 ธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 1,012 ล้านบาท โดยยังมีวงเงินสินเชื่อคงเหลืออยู่อีกจำนวน 18,988 ล้านบาท

2.2 การปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ

เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึงและครอบคลุมประชาชนผู้ประกอบอาชีพทุกกลุ่ม จึงเห็นควรปรับปรุงการดำเนินโครงการ ดังนี้

1) จัดสรรวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท จากโครงการตามข้อ 2.1 ให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ภัยทางเศรษฐกิจ และภัยทางธรรมชาติ ทั้งนี้ สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ รวมถึงกรอบวงเงินงบประมาณที่รัฐบาลชดเชยยังคงเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 โดยเพิ่มเติมระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน (6 งวดแรก) เพื่อบรรเทาภาระให้ลูกค้า

2) จัดสรรวงเงินจำนวน 5,000 ล้านบาท จากโครงการตามข้อ 2.1 ให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดาในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และ Supply Chain เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮ้าส์ โฮสเทล เป็นต้น วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี ทั้งนี้ กรอบวงเงินงบประมาณที่รัฐบาลชดเชยยังคงเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563

การดำเนินโครงการตามข้อ 1 และ 2 เข้าข่ายลักษณะของกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามบทบัญญัติในมาตรการ 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ) และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (คณะกรรมการฯ) เรื่องการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 โดยกระทรวงการคลังได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่ต้องนำเสนอตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เรียบร้อยแล้ว การดำเนินโครงการดังกล่าวยังเข้าข่ายตามพระราชบัญญัติในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่ง บสย. และธนาคารออมสินในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการมาตรการดังกล่าว และกระทรวงการคลังในฐานะผู้เสนอเรื่องดังกล่าว ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กล่าวข้างต้น ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรับมนตรีตามบทบัญญัติในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ บสย. และธนาคารออมสินต้องจัดทำบัญชีสำหรับการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือ โครงการที่ได้รับมอบหมายแยกต่างหากจากบัญชีการดำเนินงานทั่วไป พร้อมทั้งเสนอรายงานผลการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายและผลสัมฤทธิ์ต่อรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามนัยบทบัญญัติมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. วินัยทางการเงินการคลังฯ

ประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง กำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงิน การคลังฯ ได้กำหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐบาลต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละสามสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยกระทรวงการคลังรายงานว่า ณ สิ้นวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ มียอดคงค้างจำนวน 919,500.396 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 28.73 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 (วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท) ซึ่งหากรวมภาระทางการคลังที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอีกจำนวน 18,500.472 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.57 ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 จะส่งผลให้ยอดคงค้างทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 938,000.868 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 29.31 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ดังนั้น หากมีการดำเนินโครงการดังกล่าวจำนวนรวมทั้งสิ้น 9,120 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.28 ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 จะส่งผลให้ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 947,120.868 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 29.59 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ซึ่งยังคงไม่เกินอัตราร้อยละ 30 ที่คณะกรรมการฯ ได้ประกาศกำหนดไว้

3. การปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างทั่วถึง

3.1 มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

1) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 เห็นชอบให้จัดสรรวงเงินจำนวน 80,000 ล้านบาท จากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ให้กับธนาคารออมสินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) โดยตรง ทั้งนี้ ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2563 อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 59,857 ล้านบาท

2) ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างทั่วถึง โดยจัดสรรวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท จากวงเงิน 80,000 ล้านบาทที่กล่าวข้างต้น (ทำให้วงเงินตามข้อ 3.1 1) เหลือ 70,000 ล้านบาท) โดยให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.ก. Soft Loanทั้งนี้ ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2563 อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 613 ล้านบาท

3) นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 จัดสรรวงเงินค้ำประกันสินเชื่อจำนวน 10,000 ล้านบาท จากโครงการ บสย. SMEs สร้างไทย เพื่อให้ บสย. ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8 (PGS 8) เพื่อค้ำประกันสินเชื่อให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยปัจจุบันยังไม่มีการใช้วงเงินค้ำประกันดังกล่าว

3.2 การปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ

เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไปสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้มากขึ้น จึงเห็นควรปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างทั่วถึง ดังนี้

1) จัดสรรวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท ตามข้อ 3.1 1) ให้สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของภาครัฐ โดยใช้เงื่อนไขของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เดิม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563

2) ขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ตามข้อ 3.1 2) ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อให้ธนาคารออมสินให้ความช่วยเหลือโดยตรงให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไปได้ จึงเห็นควรแบ่งวงเงินจำนวน 3,000 ล้านบาทให้กับธนาคารออมสินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยตรง

3) ขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ตามข้อ 3.1 3) ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป และปรับวงเงินค้ำประกันต่อราย จากเดิมไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย รวมทุกสถาบันการเงิน เป็นไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน เพื่อให้รองรับลูกค้าได้มากขึ้น

4. ขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)

4.1 มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการอาชีพอิสระรายย่อยที่เป็นนิติบุคคล ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร ที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2563 ธพว. อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 417 ล้านบาท จึงยังมีวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวอีกจำนวน 9,583 ล้านบาท

4.2 การปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ

เพื่อให้ ธพว. สามารถให้ความช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จึงเห็นควรขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมถึงธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดย่อมทั้งบุคลธรรมดาและนิติบุคคล ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ ของโครงการ รวมถึงกรอบวงเงินงบประมาณที่รัฐบาลชดเชยยังคงเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563

5. การปรับปรุงหลักเกณฑ์และขยายเวลาการดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย วงเงินค้ำประกันไม่เกิน 200,000 บาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ซึ่งสิ้นสุดการรับคำขอค้ำประกันเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดการรับคำขอแล้ว ยังมีวงเงินค้ำประกันโครงการคงเหลืออยู่ จำนวน 2,513 ล้านบาท ในการนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถได้รับสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ จึงเห็นควรขยายระยะเวลารับคำขอค้ำประกันออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 สิงหาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ