ขออนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 ตามแผนปฏิบัติการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 3

ข่าวการเมือง Tuesday August 25, 2020 16:18 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 ตามแผนปฏิบัติการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2564 – 2565) ของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ในช่วงแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 1 – 2 (พ.ศ. 2554 – 2562) และแผนปฏิบัติการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2564 – 2565) ของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริและสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

2. เห็นชอบสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ตามแผนปฏิบัติการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2564 – 2565) โดยมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีในหมวดเงินอุดหนุนตามแผนดังกล่าว ภายในกรอบวงเงิน 572.58 ล้านบาท

สาระสำคัญของเรื่อง

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้เสนอร่างแผนปฏิบัติการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2564 – 2565) โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. นโยบายหลัก

1) พัฒนาพื้นที่ต้นแบบของสถาบันฯ ทั้งหมด ด้วยการเสริมประสิทธิภาพและยกระดับสู่ความยั่งยืน สามารถเชื่อมโยงกับภายนอกได้ และให้ความสำคัญกับการเป็นห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab) เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า หารูปแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ที่เหมาะสม รวมทั้งเป็นสถานที่เรียนรู้ระบบการพัฒนาที่จะนำไปสู่การขยายผล และเป็นทิศทางหลักในการพัฒนาประเทศ

2) เน้นการขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริโดยใช้รูปแบบ แนวทางกระบวนการองค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติจริง และประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคงของประเทศ ทั้งจังหวัดชายแดนภาคเหนือและจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ

3) ส่งเสริมการขยายผลและเผยแพร่รูปแบบการพัฒนาที่เกิดขึ้น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา เข้ามาเรียนรู้รูปแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริที่มีความหลากหลายเหมาะสมกับภูมิสังคม โดยจัดกระบวนการเรียนรู้และการฝึกปฏิบัติ ควบคู่กับการขยายผลรูปแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริสู่ระบบราชการ อันจะนำไปสู่การเป็นทิศทางหลักในการพัฒนาประเทศระยะต่อไป

2. วัตถุประสงค์

1) เพื่อประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยอย่างกว้างขวางมากขึ้น

2) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่ต้นแบบเดิมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

3) เพื่อขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริไปยังพื้นที่ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล

4) เพื่อสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ และสร้างนักพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริให้มากยิ่งขึ้น

3. เป้าหมายการพัฒนา เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงได้กำหนดเป้าหมายของแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2564 – 2565) ดังนี้

1) พัฒนาพื้นที่ต้นแบบทั้ง 9 จังหวัด (น่าน อุดรธานี กาฬสินธุ์ อุทัยธานี เพชรบุรี ขอนแก่น ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ให้พึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักทฤษฎีใหม่

2) ขยายพื้นที่การปฏิบัติงานเพื่อประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริไปในพื้นที่ความมั่นคงตามแนวชายแดนภาคเหนือและชายแดนภาคใต้

3) สร้างนักพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นวิทยากร/พี่เลี้ยง และผู้ประสานงานการพัฒนาที่ยั่งยืน

4. ประเด็นแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2564 – 2565) ของมูลนิธิฯ และสถาบันฯ เป้าหมาย ตัวชี้วัด และแผนงาน ประเด็นแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 3 ประกอบด้วย 3 แนวทางคือ แนวทางการพัฒนาที่ 1 การสร้างเสริมความเข้มแข็งของพื้นที่ต้นแบบเดิมให้ไปสู่ความยั่งยืน สามารถรองรับสถานการณ์ภายนอกที่เปลี่ยนแปลง แนวทางการพัฒนาที่ 2 ส่งเสริมการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคงของประเทศ และ แนวทางการพัฒนาที่ 3 การบริหารจัดการเพื่อขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริให้สอดคล้องกับภูมิสังคมและสภาพแวดล้อม โดยมีเป้าหมาย ตัวชี้วัด แผนงาน และโครงการ รวมปีละ 10 แผนงาน 40 โครงการ ที่ดำเนินงานในระยะเวลา 2 ปี

5. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1) ได้โมเดลการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะเป็นแบบแผนในการพัฒนาประเทศในอนาคตสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี คือ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

2) ได้แนวทางการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในมิติที่เป็นความสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในมิติความมั่นคง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง เช่น การค้าและการแพร่ระบาดของยาเสพติด

3) ได้แนวทางการขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริไปในพื้นที่ที่หลากหลายภูมิสังคม สอดคล้องกับหลักการสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่ยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาที่ยั่งยืน และคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา

4) ประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่ต้นแบบจะได้รับในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนในพื้นที่อื่นเห็นประโยชน์และนำไปปรับใช้มากขึ้น ตามพันธกิจขององค์กรกล่าวคือ

4.1) ร้อยละ 80 ของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการในหมู่บ้านต้นแบบ ที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่ มีรายได้สูงกว่าการพัฒนาในระยะที่ผ่านมา (ปี 2563)

4.2) ชุมชนมีผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าให้พื้นที่ต้นแบบ 5 ผลิตภัณฑ์ ภายในระยะ 2 ปี (พ.ศ. 2564 – 2565)

4.3) เกิดความสามัคคีในชุมชน มีการทำงานร่วมกัน แบ่งปันทรัพยากร โดยมีการรวมกลุ่มอาชีพและกองทุน ที่บริหารจัดการโดยชุมชน ได้รับมาตรฐานตามหลักเกณฑ์จากหน่วยงาน เช่น กลุ่มเกษตร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และมีการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง

4.4) พื้นที่ป่าไม้ เช่น ป่าเศรษฐกิจ ป่าใช้สอย ป่าชุมชนฯ ในโครงกร ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ได้รับการดูแลรักษา และอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ มีสัดส่วนร้อยละ 55 ของพื้นที่โครงการ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 สิงหาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ