แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2563 – 2565

ข่าวการเมือง Tuesday November 3, 2020 16:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2563 ? 2565 (แผนปฏิบัติการฯ) เพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางการดำเนินงาน เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ประสานการปฏิบัติ จัดสรรทรัพยากร และติดตามประเมินผลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2. ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประจำปีให้สอดคล้องรองรับกับแผนปฏิบัติการฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

สาระสำคัญของเรื่อง

ยธ. โดย สำนักงาน ป.ป.ส. รายงานว่า

1. โดยที่รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็น 1 ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจังทั้งระบบ ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการฯ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบทิศทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ส. ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการฯ ด้วยแล้ว

2. แผนปฏิบัติการฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

2.1 วัตถุประสงค์

1) เพื่อเป็นแผนชี้นำการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด และลดระดับปัญหาของการแก้ไขปัญหาได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายใน 3 ปี และลดระดับจนไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศภายในปี พ.ศ. 2580

2) เพื่อบูรณาการนโยบายและแผนแต่ละระดับที่เกี่ยวข้อง มุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างประสานสอดคล้องตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

3) เพื่อเป็นกรอบในการบริหารจัดการ ประสานการปฏิบัติจัดสรรทรัพยากร และกำกับติดตามประเมินผลสำหรับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแปลงแผนปฏิบัติการฯ ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

2.2 เป้าหมายและตัวชี้วัด

1) เป้าหมาย คือ สถานการณ์ปัญหายาเสพติดได้รับการควบคุมจนไม่ส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเมื่อสิ้นสุดแผน (ปี พ.ศ. 2565) โดยลดจำนวนผู้ค้า ผู้เสพ และสัดส่วนการกระทำผิดซ้ำในระดับพื้นที่

2) ตัวชี้วัด คือ

(1) สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติด และ (2) ความพึงพอใจและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด

2.3 มาตรการ/แนวทาง ประกอบด้วย 5 มาตรการ (9 แนวทาง) ดังนี้

มาตรการที่ 1 ความร่วมมือระหว่างประเทศ (1 แนวทาง)

แนวทางที่ 1

ความร่วมมือระหว่างประเทศเชิงรุก เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศให้เกิดผลสำเร็จในการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรมโดยให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การปฏิบัติการสนับสนุนซึ่งกันและกัน การบริหารจัดการชายแดน และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร

ตัวชี้วัด

(1) ระดับความสำเร็จของการดำเนินการตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อปราบปรามและทำลายแหล่งผลิตยาเสพติดภายนอกประเทศ

(2) ระดับความสำเร็จของการประสานผลักดันความร่วมมือด้านยาเสพติดในประเทศอาเซียน

(3) ระดับความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกภาคพื้นอาเซียนที่คืบหน้าเป็นรูปธรรม และ

(4) ระดับความสำเร็จในการยกระดับความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศสมาชิก (ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม) ในการปิดล้อมพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.)

มาตรการที่ 2 การปราบปรามและบังคับใช้กฎหมาย (2 แนวทาง)

แนวทางที่ 2

การสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ เพื่อดำเนินการยับยั้งการลำเลียงยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ให้เล็ดลอดเข้าสู่แหล่งแพร่ระบาดหรือแหล่งผลิตได้น้อยที่สุด โดยบูรณาการหน่วยงานร่วมสกัดกั้นยาเสพติดพื้นที่ชายแดน พื้นที่พักคอย และพื้นที่ตอนใน เพื่อควบคุมการลักลอบลำเลียงและนำเข้ายาเสพติดและสกัดกั้นยาเสพติด ณ ด่านศุลกากร ท่าอากาศยานนานาชาติ และท่าเรือระหว่างประเทศ

ตัวชี้วัด

ร้อยละของการสกัดกั้นปริมาณยาเสพติดเปรียบเทียบกับปริมาณยาเสพติดที่จับกุมได้ทั่วประเทศ

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : กห. ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล และ ตช.

แนวทางที่ 3

การปราบปรามกลุ่มการค้ายาเสพติด เพื่อทำลายหรือลดทอนศักยภาพโครงข่ายการค้ายาเสพติดทุกระดับ โดยการปราบปรามและสลายโครงสร้างเครือข่ายการค้าผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและเครือข่ายข้ามชาติ การพัฒนางานการข่าวและระบบฐานข้อมูลสนับสนุนให้สามารถเชื่อมโยงงานการข่าวในทุกมิติ และการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมืออุปกรณ์พิเศษ การปราบปรามยาเสพติดและบูรณาการการใช้เทคโนโลยี เป็นต้น

ตัวชี้วัด

(1) ร้อยละความสำเร็จของการยุติบทบาทกลุ่มการค้ายาเสพติดระดับสำคัญ และ

(2) จำนวนผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่แพร่ระบาดถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : กห. กระทรวงการคลัง ยธ. มท. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตช. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และสำนักงานอัยการสูงสุด

มาตรการที่ 3 การป้องกันยาเสพติด (3 แนวทาง)

แนวทางที่ 4

การเสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวชายแดนและการพัฒนาทางเลือก เพื่อลดเหตุปัจจัยของโครงสร้างอิทธิพลและขบวนการค้ายาเสพติดบริเวณชายแดน โดยใช้มาตรการพัฒนาทางเลือกตามแนวทางศาสตร์พระราชา และสร้างการเป็นอาสาป้องกันยาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวชายแดน

ตัวชี้วัด

(1) ระดับความสำเร็จในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย และ

(2) ระดับความสำเร็จของการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : มท. ยธ. และ กอ.รมน.

แนวทางที่ 5

การป้องกันยาเสพติดในแต่ละกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสมเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในกลุ่มเป้าหมายให้สอดคล้องกับพัฒนาการตามช่วงวัยและวิถีชีวิต โดยการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงสูง เป็นต้น

ตัวชี้วัด

ระดับความสำเร็จของการสร้างภูมิคุ้มกันของประชากรกลุ่มเป้าหมาย

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มท. ยธ. กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สธ. และกรุงเทพมหานคร (กทม.)

แนวทางที่ 6

การปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อจัดการพื้นที่ให้มีศักยภาพในการลดอุปสงค์ยาเสพติดทั้งในด้านการขจัดปัจจัยลบและด้านการเพิ่มปัจจัยบวก โดยการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวกในกลุ่มเด็กและเยาวชน และกลุ่มแรงงาน การเสริมสร้างพื้นที่ปลอดภัยโดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมในพื้นที่ เป็นต้น

ตัวชี้วัด

ระดับความสำเร็จของการมีส่วนร่วมในสภาพแวดล้อมทางสังคมเพื่อการป้องกันยาเสพติด

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : พม. อว. ยธ. มท. รง. ศธ. สธ. กอ.รมน. และ ตช.

มาตรการที่ 4 การบำบัดรักษายาเสพติด (1 แนวทาง)

แนวทางที่ 7

การดูแลผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ให้เข้าถึงการบำบัดรักษา และการลดอันตรายหรือผลกระทบจากยาเสพติด เพื่อดำเนินกระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูให้มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับบริบทและระดับความรุนแรงของผู้ป่วยยาเสพติดแต่ละราย โดยการพัฒนาระบบการบำบัดรักษา การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติด เป็นต้น

ตัวชี้วัด

(1) ร้อยละของผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ติดยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟู มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ

(2) ร้อยละของกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับบริการลดอันตรายจากยาเสพติดอย่างมีมาตรฐาน

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : มท. ยธ. สธ. และ กทม.

มาตรการที่ 5 การบริหารจัดการอย่างบูรณาการ (2 แนวทาง)

แนวทางที่ 8

กิจการพิเศษ เพื่อดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่พิเศษ โดยการควบคุมและใช้ประโยชน์จากพืชเสพติด และการพัฒนามาตรการทางเลือกรูปแบบใหม่ เช่น การทำให้ยาเสพติดที่ไม่ร้ายแรงเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น

ตัวชี้วัด

(1) ระดับความสำเร็จของการควบคุมพืชยาเสพติด (ฝิ่น กัญชา กัญชง และกระท่อม)

(2) ระดับความสำเร็จของการควบคุมการใช้ประโยชน์จากพืชเสพติด

(3) จำนวนคดีที่มีการนำพืชเสพติดที่ได้รับอนุญาตไปใช้ในทางที่ผิด และ

(4) ร้อยละของผู้ต้องขังคดียาเสพติดลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับฐานเฉลี่ย 3 ปี (พ.ศ. 2560 ? 2562)

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : กห. มท. กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ยธ. สธ. กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ตช. และสำนักงานศาลยุติธรรม

แนวทางที่ 9

การบริหารจัดการอย่างบูรณาการ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบโดยการพัฒนาระบบข้อมูลและการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลยาเสพติด

ตัวชี้วัด

ระดับความสำเร็จในการบริหารจัดการและนวัตกรรมการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่มีประสิทธิภาพ

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : ยธ. (สำนักงาน ป.ป.ส.)

2.4 งบประมาณ จำนวน 15,957.274 ล้านบาท จำแนกเป็น 3 ด้าน ดังนี้

ด้าน / งบประมาณ (ล้านบาท)

1. ด้านการป้องกันยาเสพติด 5,608.352

2. ด้านการปราบปรามยาเสพติด 5,897.850

3. ด้านการบำบัดรักษายาเสพติด 4,451.072

3. กลไกการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ได้แก่

3.1 ระดับนโยบาย (Agenda) โดยมีคณะกรรมการ ป.ป.ส. ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย มาตรการการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในภาพรวมเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ

3.2 ระดับชาติ โดยมีศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ และอนุกรรมการตามคำสั่งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ เป็นกลไกอำนวยการกำกับ ติดตามแผนในแต่ละระดับ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์ รวมทั้งประเมินผลการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้องให้สามารถขับเคลื่อนแผนได้อย่างประสานสอดคล้อง

3.3 ระดับภารกิจ (Function) มีศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระดับกระทรวง กรม และหน่วยงาน ซึ่งรับผิดชอบดำเนินงานตามภารกิจ โดยเน้นการบูรณาการแผนงานและงบประมาณภายในหน่วยงานและระหว่างหน่วยงานให้เกิดเอกภาพ และสนับสนุนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ รวมทั้งกำกับติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด

3.4 ระดับพื้นที่ (Area) โดยมีศูนย์อำนวยการและศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด/กทม./อำเภอ/เขต/องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อบูรณาการแผนงานงบประมาณและประสานการปฏิบัติการร่วมกับส่วนราชการ องค์กร ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกลไกภายใต้โครงการตำบลมั่นคงปลอดภัยจากยาเสพติด ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนด้วย

3.5 ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่เฉพาะ เพื่อเป็นกลไกการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่ที่มีบริบทและสถานการณ์ปัญหาที่หลากหลายและแตกต่าง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยกลไกปกติได้จะต้องมีการบูรณาการ และแก้ไขปัญหาจากหลายหน่วยงาน

4. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ในการประชุม ครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการฯ และเห็นควรเพิ่มเติมประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้แผนปฏิบัติการมีความชัดเจนและเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนี้ (1) เพิ่มมาตรการทางเลือกใหม่ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เป็นมาตรการลดทอนการเป็นอาชญากรรม (2) นำแนวคิดชุมชนคุณธรรมที่ใช้หลัก ?บวร? (บ้าน - วัด - โรงเรียน) เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในระดับพื้นที่ (3) ควรมีการติดตามประเมินผลกลไกการขับเคลื่อนในแต่ละระดับและเพิ่มเติมกลไกร่วมในการปราบปรามยาเสพติด เช่น ประเด็นการติดตามการฟอกเงินของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ และ (4) ควรปรับตัวชี้วัดที่สะท้อนผลลัพธ์ และกำหนดค่าเป้าหมายที่ชัดเจนและท้าทาย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563


แท็ก ยาเสพติด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ