ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนตุลาคม 2563

ข่าวการเมือง Monday November 23, 2020 17:33 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนตุลาคม 2563 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

1.1 ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

สาระสำคัญ

  • แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการปฏิบัติที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย (1) จัดทำรายละเอียดโครงการสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สำนักงบประมาณ (สงป.) ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ (2) จัดทำร่างแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้ทันต่อการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และ (3) จัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้แล้วเสร็จและนำเข้าระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ภายในเดือนกันยายน 2564 รวมทั้งจัดทำและนำเข้าแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และนำเข้ารายละเอียดข้อมูลโครงการปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในระบบ eMENSCR ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อใช้ประกอบการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานตามระเบียบว่าด้วยการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2562 ต่อไป
  • จัดการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564 - 2565 ฉบับสมบูรณ์ จากกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเมือง ซึ่งได้รับความเห็น 529 ความเห็น สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ (1) ควรเพิ่มเติมรายละเอียดของประเด็นการพัฒนาในแต่ละประเด็นให้ครอบคลุมกับมิติการพัฒนา เป้าหมายและแนวทางการพัฒนา (2) ควรเพิ่มเติมตัวชี้วัดให้ครอบคลุมและสะท้อนความก้าวหน้าของการดำเนินงาน รวมถึงความเหมาะสมของการปรับค่าเป้าหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ (3) ควรเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการคัดเลือกโครงการสำคัญในแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ และ (4) ควรให้ความสำคัญกับการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยเน้นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน/โครงการ และการกำหนดกลไกการติดตามประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สศช. ได้นำความเห็นต่าง ๆ มาประมวลผลเพื่อประกอบการจัดทำร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ฉบับสมบูรณ์ และเสนอคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะ พิจารณาแล้ว มีความเห็นให้ สศช. พิจารณาเพิ่มเติมความเหมาะสมของการปรับแนวทางให้มีความครอบคลุมสามารถรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การยกระดับภาคการเกษตร การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดย สศช. ได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 ต่อไป
  • รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานการประชุมแนวทางแก้จนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่โดยใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ณ จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อรับทราบผลการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์จากระบบ TPMAP จากจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสงคราม ขอนแก่น เชียงราย นครพนม นครศรีธรรมราช และอุทัยธานี และนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบคำสั่งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เพื่อเป็นกลไกเชิงนโยบายในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรม

1.2 ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ

  • ที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปประเทศทุกคณะได้มีมติเห็นชอบร่างแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ทั้ง 13 ด้าน โดยร่างแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) จะบรรจุเฉพาะกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ที่สามารถดำเนินการและวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมในช่วงปี 2564 ? 2565 และยังคงเป็นแผนระดับที่ 2 ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติตามหลักความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลเพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติของแต่ละช่วงเวลา 5 ปี

1.3 ผลการดำเนินการอื่น ๆ

  • คาดว่าจะรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาในช่วงเดือนธันวาคม 2563 โดยในการรายงานครั้งต่อไป สศช. จะปรับรูปแบบการรายงานเป็นการรายงานเฉพาะกิจกรรมปฏิรูปประเทศ ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock)
  • พัฒนาเว็บไซต์ ThaiME เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมใน การติดตาม และตรวจสอบการดำเนินโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 นอกจากนี้ เว็บไซต์ ThaiME ได้เผยแพร่ข้อมูลให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ได้อย่างหลากหลายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • สร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่าง ๆ ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ เช่น

(1) กิจกรรมสร้างสรรค์ภาพด้วยเทคนิคดิจิทัลอาร์ตสำหรับนักเรียน นักศึกษา โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขัน จำนวน 183 ผลงาน สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองและความคิดต่อประโยชน์ของยุทธศาสตร์ชาติในการเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนประเทศไทย เช่น เกษตรกรกับการผลิตแบบใหม่ การเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ภาครัฐแห่งความโปร่งใส และแรงงานคุณภาพ และ

(2) จัดทำสื่อวีดีทัศน์การสร้างความตระหนักรู้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่อยู่ในช่วงอายุ 10 ? 30 ปี 2. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ

  • ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ คือ การจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับการดำเนินการที่สามารถขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทฯ โดย สงป. สามารถใช้ข้อมูลห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทยเพื่อประกอบการพิจารณาและวิเคราะห์โครงการที่ควรได้รับการสนับสนุนงบประมาณ โดยเฉพาะองค์ประกอบและปัจจัยของห่วงโซ่คุณค่าของเป้าหมายแผนแม่บทย่อยที่ยังไม่มีโครงการสำคัญรองรับ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ