การประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง ครั้งที่ 9

ข่าวการเมือง Tuesday December 8, 2020 19:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาพนมเปญของการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี ? เจ้าพระยา ? แม่โขง ครั้งที่ 9 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรอง ร่างปฏิญญาฯ ดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

สาระสำคัญของร่างปฏิญญาพนมเปญฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศสมาชิกยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี ? เจ้าพระยา ? แม่โขง ที่จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ สรุปได้ ดังนี้

1. ยินดีต่อความคืบหน้าของการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี ? เจ้าพระยา ? แม่โขง ซึ่งพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การก่อตั้งกรอบความร่วมมือในปี 2546 ตามเจตนารมณ์ของปฏิญญาพุกาม โดยเฉพาะในมิติด้านการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนการสร้างเสริมความร่วมมือที่ยั่งยืนระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง 5 ประเทศ

2. ย้ำเจตนารมณ์ที่จะสานต่อการขับเคลื่อนแผนงานตามสาขาความร่วมมือ 3 เสา ของแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2019 -2023) โดยเฉพาะการดำเนินการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้ ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือที่มีพลวัตและสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์ โดยผู้นำประเทศสมาชิกได้เห็นชอบในหลักการให้มีการบรรลุการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS (ACMECS Development Fund) เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนที่จะสนับสนุนการพัฒนาโครงการภายใต้ ACMECS อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ตลอดจนให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการ ACMECS และส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทั้งในและนอกภูมิภาคเพื่อผนึกกำลังและบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

3. ตระหนักถึงภัยคุกคามทางสาธารณสุขที่เกิดจากโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ โดยเฉพาะการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก ตลอดจนย้ำความสำคัญของการยกระดับความร่วมมือของประเทศสมาชิก ACMECS ในการดำเนินมาตรการอย่างครอบคลุมเพื่อบรรเทาและป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งเห็นชอบที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข การสร้างภูมิคุ้มกัน และการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานร่วมกันภายใต้กลไกของกรอบความร่วมมือพหุภาคี อาทิ อาเซียน องค์การอนามัยโลก และการร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนานอกอนุภูมิภาค

4. เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ และการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ และให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัล การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนการสร้างขีดความสามารถของภาคธุรกิจ รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ตลอดจนเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาและเร่งให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก ACMECS

โดยที่ประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี ? เจ้าพระยา ? แม่โขง ครั้งที่ 9 มีกำหนดจะรับรองร่างปฏิญญาพนมเปญฯ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2563

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ