แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 4, 2009 11:47 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยมอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 สำหรับงบประมาณเพื่อดำเนินการจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดให้เกษตรกรนั้น เห็นควรให้ ส.ป.ก. ตรวจสอบคุณสมบัติของเกษตรกรดังกล่าวให้ชัดเจน และพิจารณาปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 มาดำเนินการในโอกาสแรกก่อน และหากไม่เพียงพอก็ให้ใช้จ่ายจากเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ทั้งนี้ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2552 และพิจารณาเห็นว่า เนื่องจากไม่สามารถหาที่ดินของรัฐได้ ส่วนที่ดินของ ส.ป.ก. ที่มีอยู่เพียงประมาณ 3,474 ไร่ ก็ไม่เพียงพอและยังเป็นแปลงเล็กแปลงน้อยอยู่กระจัดกระจาย ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค ที่ต้องการที่ดินแปลงใหญ่สามารถทำกินรวมกลุ่มกันได้ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ดังนี้

1. ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นผู้จัดซื้อที่ดินและดำเนินการจัดที่ดินให้แก่สมาชิกเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค

2. ให้ ส.ป.ก.จัดทำสัญญาเช่าซื้อกับเกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินทำกินกำหนดระยะเวลาตามสัญญา 25 ปี โดยปลอดดอกเบี้ยในระยะเวลา 5 ปีแรก เริ่มชำระหนี้ในปีที่ 6-25 ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ของราคาที่ดินที่จัดซื้อ

3. เงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดซื้อที่ดิน แบ่งเป็น ดังนี้ 1) ค่าที่ดิน 1,700,100,000 บาท 2) ค่าบริหารจัดการ คิดเป็นเงิน 51,003,000 บาท โดยให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติ

ข้อกฎหมายหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการดำเนินการ

ด้านที่ดิน

1. ส.ป.ก.เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 และมีอำนาจจัดซื้อที่ดินตามมาตรา 29

2. ที่ดินที่จะจัดซื้อ มีหลักเกณฑ์ ดังนี้

2.1 เป็นที่ดินที่มีหนังสือสำคัญตามประมวลกฎหมายที่ดิน เช่น โฉนด นส.3ก

2.2 เป็นที่ดินที่มีศักยภาพในการประกอบเกษตรกรรมและมีขนาดที่เหมาะสม

2.3 เกษตรกรมีความพึงพอใจในที่ดิน

2.4 ราคาที่ดินที่จะจัดซื้อให้พิจารณาจากราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ ราคาซื้อขายของที่ดินบริเวณใกล้เคียง และราคาซื้อขายที่ดินปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 3 ปี ประกอบกัน

3. ขนาดที่ดินที่จะจัดให้ ไม่เกินรายละ 15 ไร่

ด้านเกษตรกรผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดิน

1. เป็นเกษตรกรตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินที่ยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือเกี่ยวกับที่ดิน ทำกิน หรือการจัดที่ดินจากหน่วยงานของรัฐ

2. ไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองหรือบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือ มีที่ดินเพียงเล็กน้อยแต่ไม่เพียงพอแก่การประกอบเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ

3. เป็นผู้ยินยอมปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำหนด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ