กรอบการเจรจาพันธกรณีต่าง ๆ ภายใต้บทที่ 9 การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 16:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบการเจรจาพันธกรณีต่างๆ ภายใต้บทที่ 9 การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ และให้เสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ และรับทราบกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการเพื่อให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในรูปแบบการอภิปรายสาธารณะและการประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ แล้ว

กระทรวงการต่างประเทศเสนอว่า

1. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกำกับการดำเนินการตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (JTEPA) มีหน้าที่เจรจาเรื่องการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาภายใต้ความตกลงดังกล่าว โดยเป็นไปตามพันธกรณีที่ฝ่ายไทยและญี่ปุ่นได้ให้ข้อผูกพัน (commitment) ไว้ในบทที่ 9 ของความตกลง โดยข้อผูกพันของไทยคือการพิจารณาผ่อนปรนกฎเกณฑ์ 4 เรื่อง ได้แก่

  • เรื่อง อัตราส่วนการจ้างงานคนไทย 4 คนต่อคนต่างชาติ 1 คน
  • เรื่อง ข้อจำกัดจำนวนคนต่างชาติไม่เกิน 10 คนต่อ 1 บริษัท
  • เรื่อง กฎระเบียบพนักงานต่างชาติที่โอนย้ายเข้ามาประจำในไทย
  • เรื่อง กระบวนการแจ้งกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับการเข้ามาทำงานของคนต่างชาติ

ส่วนข้อผูกพันของญี่ปุ่นมี 2 เรื่อง ได้แก่

  • การพิจารณาเปิดตลาดแรงงานคนไทยเพื่อเข้าไปทำงานเป็นคนดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่น
  • การพิจารณาเปิดตลาดแรงงานคนไทยเพื่อเข้าไปทำงานเป็นพนักงานสปาในญี่ปุ่นทั้งนี้ ความตกลงกำหนดเวลาให้สรุปผลการเจรจาตามข้อผูกพันของทั้งสองฝ่ายไว้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่กำหนดไว้ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2552

2. ได้พิจารณาเห็นว่า เรื่องดังกล่าวข้างต้นอาจเข้าข่ายประเภทหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรค 2 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงควรเสนอกรอบการเจรจา “การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาภายใต้ JTEPA” เพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และ

3. ได้หารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้วยแล้วเป็นระยะ ๆ ซึ่งไม่มีข้อขัดข้องและสามารถปฏิบัติตามได้ นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมเพื่อให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการอภิปรายสาธารณะ และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ และวิทยุ แล้ว จึงได้เสนอกรอบการเจรจาฯ ดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของกรอบการเจรจา

1. ในส่วนของข้อผูกพันของไทย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักธุกิจญี่ปุ่นในประเทศไทยเท่าที่จะกระทำได้ตามพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์และผลประโยชน์ด้านการค้า การลงทุนของญี่ปุ่นกับไทยที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ การกระตุ้นสภาวะการจับจ่ายใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ และการจ้างงานในประเทศไทย

2. ในส่วนของข้อผูกพันของญี่ปุ่น เพื่อเปิดตลาดการจ้างแรงงานไทยในธุรกิจสปา และคนดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึง

2.1 การพัฒนาขีดความสามารถ ความพร้อมของแรงงาน รวมทั้งสภาวการณ์ของตลาดการจ้างงานในไทย

2.2 มาตรฐานความเป็นอยู่ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความเหมาะสมของระดับอัตราค่าจ้าง

2.3 การให้ความคุ้มครองด้านกงสุล และสิทธิในการเข้าถึงการให้สวัสดิการพื้นฐานทางสังคมของประเทศผู้รับ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ