ร่างมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2009 16:08 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติในการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นของประเทศไทย

2. อนุมัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายการดำเนินงานตามกฎหมายที่มีอยู่ให้ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ร่างมาตรการฯ และจัดตั้งงบประมาณประจำปีเพื่อดำเนินการตามกิจกรรมดังกล่าว

ทั้งนี้ ให้รับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ที่เห็นว่าการใช้มาตรการดังกล่าวควรดำเนินการให้สอดคล้องกับความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ความตกลงทวิภาคี และความตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปประกอบการพิจารณาด้วย

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานว่า

1. ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในลำดับที่ 188 เมื่อเดือนมกราคม 2547 ซึ่งอนุสัญญาฯ ได้กำหนดไว้ในมาตรา 8 การอนุรักษ์ในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ วรรค h กำหนดให้ภาคีจักต้องดำเนินการป้องกันการนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ควบคุมหรือกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ซึ่งคุกคามระบบนิเวศ ถิ่นที่อยู่อาศัย หรือชนิดพันธุ์อื่น และจากการประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ.2002 ณ นครโจฮันเนสเบิร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ตกลงร่วมกันที่จะมีการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายปี ค.ศ.2010 ในการลดอัตราการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพลงอย่างมีนัยสำคัญภายในปี ค.ศ. 2010

2. คณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีคำสั่งที่ 2/2549 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2549 แต่งตั้งคณะทำงานชนิดพันธุ์ต่างถิ่นขึ้น ให้มีหน้าที่พิจารณา จัดทำ ปรับปรุง และทบทวนระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า การควบคุม และการกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ให้เป็นไปตามความเหมาะสมและการยอมรับในระดับสากล

3. คณะทำงานฯ พิจารณาเห็นว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่มีวัตถุประสงค์โดยตรงในการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ทำให้การดำเนินการควบคุมดูแลชนิดพันธุ์ต่างถิ่นยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงเห็นควรเสนอให้มีการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นขึ้นเป็นการเฉพาะ ซึ่งคณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในการประชุมครั้งที่ 3/2549 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 เห็นว่า การยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมีความจำเป็น แต่กระบวนการออกพระราชบัญญัติต้องใช้เวลานานและอาจไม่ทันต่อการป้องกันการนำเข้า การควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ จึงเห็นควรให้คณะทำงานฯ จัดทำมาตรการฯ เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อบังคับใช้กับหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ในการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในระหว่างนี้ไปก่อน

4. ในปี พ.ศ. 2552 “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน” ได้ถูกกำหนดเป็นหัวข้อหลักในการจัดงานวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2552 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงขอยืนยันเสนอร่างมาตรการฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเพื่อจะได้นำไปเผยแพร่และผลักดันให้เกิดการดำเนินการในการประชุมเนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2552

5. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการยกร่างมาตรการฯ สรุปได้ดังนี้

5.1 ศึกษา ปรับปรุงข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับการแพร่ระบาด และจัดทำมาตรการและกลไกการควบคุมกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในปีงบประมาณ 2549 จัดประชุมทางวิชาการ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 และจัดทำร่างมาตรการฯ

5.2 จัดประชุมคณะทำงานฯ รวม 4 ครั้ง จัดการประชุมหารือและระดมความคิดเห็นต่อร่างมาตรการฯ และทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม และกำจัดของประเทศไทยและประสานผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธาน หน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่มีการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่น จำนวน 34 แห่ง รวมทั้งนำร่างมาตรการฯ และทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นฯ ที่ได้รับการปรับแก้ไขตามข้อคิดเห็นจากการประชุมหารือและการประสานผู้เชี่ยวชาญเสนอคณะทำงานฯ พิจารณาในการประชุม ครั้งที่ 3/2550 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างมาตราฯ ซึ่งมีทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นฯ เป็นภาคผนวก และให้นำเสนอคณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพพิจารณา

5.3 นำร่างมาตรการฯ เสนอต่อคณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในการประชุมครั้งที่ 6/2550 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 และคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2550 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างมาตรการฯ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

5.4 ร่างมาตรการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการป้องกัน ควบคุม กำจัด เฝ้าระวัง และติดตามชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานทั้งที่เข้ามาแล้ว และยังไม่ได้เข้ามาในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ร่างมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย มาตรการ 4 ด้าน และแนวทางปฏิบัติ จำนวน 15 เรื่อง

5.5 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการที่จะนำไปใช้ในการสนับสนุนร่างมาตรการฯ ได้แก่ พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ