การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการอนุรักษ์และการจัดการพะยูน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 20, 2009 14:47 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการอนุรักษ์และการจัดการพะยูน

และแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนโดยครอบคลุมพื้นที่อาศัยของพะยูนทั้งหมด

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการอนุรักษ์และการจัดการพะยูน และแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนโดยครอบคลุมพื้นที่อาศัยของพะยูนทั้งหมด ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า

1. ทส. โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับประเทศออสเตรเลียในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม เรื่องการอนุรักษ์และจัดการพะยูน (Meeting on Dugong Conservation and Management) ณ กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 ครั้ง เพื่อหาแนวทางในการร่วมกันอนุรักษ์พะยูนในและระหว่างภูมิภาค โดยที่ประชุมได้ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการอนุรักษ์และจัดการพะยูนและแหล่งที่อยู่อาศัยโดยครอบคลุมพื้นที่อาศัยของพะยูนทั้งหมด (Memorandum of Understanding on the Conservation and Management of Dugongs (Dugong dugon) and Their Habitats Throughout Their Range-Dugong MOU) และแผนการอนุรักษ์และการจัดการสำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการอนุรักษ์และจัดการพะยูนและแหล่งที่อยู่อาศัยโดยครอบคลุมพื้นที่อาศัยของพะยูนทั้งหมด (Conservation and Management Plan for the Memorandum of Understanding on the Conservation and Management of Dugongs (Dugong dugon) and Their Habitats Throughout Their Range-CMP)

2. การประชุมครั้งที่ 3 จัดขึ้น ณ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2552 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ และพิจารณาโครงการวิจัยร่วมกันในอนาคตโดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน โดยมีประเทศที่ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ แล้ว จำนวน 12 ประเทศ ซึ่งสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์เป็น 2 ใน 12 ประเทศดังกล่าวได้เสนอเป็นประเทศเจ้าภาพดูแลสำนักงานเลขาธิการ Dugong MOU อย่างเป็นทางการ โดยในช่วง 3 ปีแรก (ระหว่างปี 2552-2554) จะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน 3.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3. ทส. ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอทราบขั้นตอนการดำเนินการในลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการจัดการพะยูนและแหล่งที่อยู่อาศัยโดยครอบคลุมพื้นที่อาศัยของพะยูนทั้งหมด (Memorandum of Understanding on the Conservation and Management of Dugong and Their Habitats Throughout Their Rang-MOU) และแผนการอนุรักษ์และการจัดการสำหรับบันทึกความเข้าใจฯ Conservation and Management Plan For the MOU และกระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายแจ้งว่า

3.1 MOU มิใช่เอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมายจึงไม่น่าจะเป็นสนธิสัญญาที่จะต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 เรื่อง การทำความตกลงกับต่างประเทศการทำอนุสัญญา และสนธิสัญญาต่าง ๆ อย่างไรก็ดี โดยที่ MOU เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีผลผูกพันทางนโยบาย ดังนั้น ส่วนราชการเจ้าของเรื่องจึงควรเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนลงนาม

3.2 ในส่วนของการจัดทำหนังสือแต่งตั้งผู้แทน (Letter of Credentials) นั้น ในเอกสารการเข้าเป็นภาคี The Convention on the Conservation of Migratory Species of Wild Animals (CMS) หรือความตกลงที่เกี่ยวข้องกับ CMS ซึ่งจัดทำโดยฝ่ายเลขานุการระบุว่า ในการลงนาม MOU ที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายไม่จำเป็นต้องมี Credentials ที่แสดงอำนาจในการลงนามในนามรัฐบาล แต่ควรให้รัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบ อาทิ ทส. หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ลงนาม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ