รายงานผลการประชุมคณะมนตรีประศาสน์การโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 25

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 27, 2009 14:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะมนตรีประศาสน์การโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 25 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานว่า

1. นายกรัฐมนตรีอนุมัติองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีประศาสน์การโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ ที่ 25 (the 25th Session of the Governing Council/Global Ministerial Environment Forum of the United Nations Environment Programme : UNEP GC/GMEF) ระหว่างวันที่ 14 — 22 กุมภาพันธ์ 2552 ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบหมายให้รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยพร้อมด้วยผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุม ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมในฐานะสมาชิกของ United Nations Environment Program Governing Council (UNEP GC)

2. ผลการประชุมประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Consultation) และการประชุมคณะกรรมการรวม (Committee of the Whole)

2.1 การประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Consultation)

2.1.1 สรุปผลการประชุมตามหัวข้อที่มีการหารือประกอบด้วย

1) Global Crisis, National Chaos? Toward a green economy ที่ประชุมให้ความสำคัญต่อเรื่อง เศรษฐกิจสีเขียว (green economy) จึงได้กำหนดหัวข้อที่ให้โลกตระหนักถึง คือ “Green is the new big deal” โดยเน้นความสมดุลระหว่างการปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดปัญหาความยากจนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยสรุปเศรษฐกิจสีเขียวจะเป็นทางออกของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน น้ำ และอาหาร

2) IEC Reform Help or Hindrance ที่ประชุมเห็นว่าเป็นเวลาที่ต้องคิดถึงเรื่องการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ซึ่งที่ประชุมเน้นถึงความสำคัญของการนำแนวทางในระดับการเมืองมาหารือและกำหนดเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในสามปีข้างหน้า และเน้นดำเนินการตามแผนกลยุทธ์บาหลี (Bali Strategic Plan) และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ UNEP รวมถึงบทบาทของสำนักงานภูมิภาคต่างๆ

2.2 ผลการประชุมคณะกรรมการรวม (Committee of the Whole) มีประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้ การจัดการสารเคมี รวมถึงปรอท การจัดการขยะ ความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา กฎหมายสิ่งแวดล้อม Intergovernmental Science-policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services (IPBES) การดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์และนโยบายด้านทรัพยากรน้ำ งบประมาณและแผนการดำเนินงานของ UNEP ในปี พ.ศ. 2553 — 2554 และรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อม

2.3 การหารือในระหว่างการประชุม UNEP GC สมัยที่ 25 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 รัฐมนตรีเดนมาร์กเชิญผู้แทนประเทศสมาชิกเข้าร่วมหารือการประชุม Informal Ministerial Consultations on Climate Change เพื่อเตรียมการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 15 (The 15th Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change : COP 15) ณ ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นการประชุมแบบปิดและอนุญาตให้ผู้แทนจำนวน 2 ราย โดยผู้แทนประเทศไทยที่เข้าร่วมหารือ ประกอบด้วยรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและรองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ