ข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง วิกฤตเศรษฐกิจและการปกป้องสุขภาวะคนไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 10, 2009 13:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง วิกฤตเศรษฐกิจและการปกป้องสุขภาวะคนไทย ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 6/2551 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ได้พิจารณามติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551 ซึ่งจัดขึ้นตามบทบัญญัติมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ในมติ 1.14 วิกฤตเศรษฐกิจและการปกป้องสุขภาวะคนไทย ดังนี้

1. ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2551 ได้พิจารณาและมีมติต่อข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง วิกฤตเศรษฐกิจและการปกป้องสุขภาวะคนไทย ดังต่อไปนี้

1.1 ให้รัฐบาลดำเนินมาตรการคุ้มครองทางสังคม โดยเฉพาะเพิ่มการสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอสำหรับการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ รวมถึงการจัดหายาต้านไวรัสสำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์ และการสนับสนุนการรักษาทดแทนไต การจัดมาตรการป้องกันและรองรับผลกระทบสำหรับผู้สูงอายุที่ยากจนและคนพิการ รวมทั้งการฟื้นฟูจิตใจสำหรับผู้ตกงาน ผู้ถูกเลิกจ้าง และผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อวิกฤตเศรษฐกิจ

1.2 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานประกันสังคม ร่วมกันดำเนินการดังนี้

1.2.1 ร่วมดำเนินงานอย่างแข็งขันตามมาตรการคุ้มครองทางสังคมในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

1.2.2 ปรับปรุงและพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพให้ถูกต้อง ทันสมัยและครบถ้วนสำหรับใช้ในการติดตามเฝ้าระวังรวมทั้งเตือนภัยก่อนเกิดสถานการณ์อันไม่พึงประสงค์ และสังเคราะห์บทเรียนและประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งนี้ ให้ครอบคลุมทุกแง่มุมอย่างรอบด้านและเป็นระบบ เพื่อเตรียมวางแผนกลยุทธ์หรือกำหนดมาตรการรองรับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่างๆ ในอนาคต

1.2.3 พัฒนาประสิทธิภาพระบบบริการสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ

1.2.4 พัฒนานโยบายและมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพในการจัดการกับพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลต่อปัญหาความยากจน เช่น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ

1.2.5 กำหนดมาตรการระยะสั้นและระยะยาวสำหรับป้องกันและรับมือกับผลกระทบดังกล่าวอย่างเหมาะสมและทันเวลา โดยปรับปรุงกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานประกันสังคมดังนี้

1) การขอเปลี่ยนสถานพยาบาลของสำนักงานประกันสังคมให้สามารถทำได้ที่สถานบริการสาธารณสุขที่ผู้ตกงานไปขอใช้บริการ

2) การขอขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพโดยให้ผู้ตกงานและใช้สิทธิประกันสังคมต่อจนครบแปดเดือนแล้ว สามารถได้สิทธิหลักประกันสุขภาพทันที โดยอนุโลมให้ใช้หลักการเดียวกับการใช้สิทธิครั้งแรก

3) เร่งหารือให้มีข้อสรุปในการดำเนินการและแก้ไขระเบียบปฏิบัติร่วมกันโดยเร็วภายในเดือนมกราคม 2552 โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

4) ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสาธารณะ สถานประกอบการ สถานบริการสาธารณสุข ตลอดจน call center ของทุกหน่วยงาน ให้ประชาชนเข้าใจวิธีการรับบริการในกรณีดังกล่าว

5) กระทรวงสาธารณสุขโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขร่วม กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันสังเคราะห์องค์ความรู้และบทเรียนจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้

1.3 ให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการดังนี้

1.3.1 สนับสนุนจัดตั้ง “หน่วยเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจต่อสุขภาวะคนไทย” ขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้มีหน้าที่ดังนี้

1) ติดตามผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจต่อสุขภาวะคนไทยในทุกๆ ด้านโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่หรือจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นเพิ่มเติม

2) รายงานผลการติดตามเฝ้าระวังดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเป็นระยะ ๆ

1.3.2 ให้รายงานผลการดำเนินงานตามมตินี้ต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทราบ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 ปี 2552

2. ที่ประชุม คสช. ครั้งที่ 6/2551 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ได้มีมติต่อข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตเศรษฐกิจและการปกป้องสุขภาวะคนไทย ดังนี้

2.1 เห็นชอบมาตรการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาวะจากวิกฤตเศรษฐกิจ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551 ในข้อ 1.1 และ 1.2

2.2 เห็นชอบให้นำมาตรการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาวะจากวิกฤตเศรษฐกิจตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551 ในข้อ 1.1 และ 1.2 เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน ให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบสุขภาวะต่อประชาชนอย่างมาก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ